คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1907/2558

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 3 พ.ค. 2559 10:29:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ บัญญัติให้ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน และ ป.รัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติให้อุทธรณ์การประเมินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้นำของเข้าไม่อุทธรณ์ก็ต้องถือว่าพอใจการประเมินและเป็นอันยุติ ผู้นำของเข้าจะนำคดีมาฟ้องให้เพิกถอนการประเมินไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1) และมาตรา 8 และไม่อาจต่อสู้คดีในชั้นศาลว่าการประเมินไม่ชอบ จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์การประเมิน ย่อมไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ในชั้นศาลว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเป็นการประเมินผิดประเภท
จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินโดยมิได้อุทธรณ์การประเมิน ซึ่งในขณะนั้นจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ทั้งต่อมายังเป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จำเลยที่ 2 ควรจะต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าว จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์ทั้งสองมิได้แจ้งการประเมินแก่จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรจึงรับฟังไม่ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 30
  • พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8

ผู้พิพากษา

ไมตรี ศรีอรุณ
ไสลเกษ วัฒนพันธุ์
อดิเทพ ถิระวัฒน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android