คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2803/2535

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ศาลอุทธรณ์แก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 3,000 บาท อีกสถานหนึ่ง และรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท แม้ศาลอุทธรณ์จะลงโทษปรับจำเลยด้วยแต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ โทษที่จำเลยได้รับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงต่ำกว่าโทษที่จำเลยจะต้องรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 แต่การกระทำของจำเลยที่โจทก์บรรยายไว้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 นั้น ก็เฉพาะการกระทำในส่วนที่อ้างว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจและที่ให้เจ้าพนักงานตำรวจจดข้อความอันเป็นเท็จลงในสมุดรายงานประจำวันอันเป็นเอกสารราชการเท่านั้น ส่วนการที่โจทก์กล่าวไว้ในคำฟ้องว่าต่อมาจำเลยนำสำเนารายงานประจำวันไปขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้วนำไปจดทะเบียนให้แก่ผู้มีชื่อนั้น โจทก์มิได้บรรยายการกระทำและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ตามที่ต้องกล่าวตามมาตรา158(5) จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยสำหรับการกระทำในส่วนนี้ด้วย ดังนั้นในการวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์จะเป็นผู้เสียหายหรือไม่จึงต้องพิจารณาเฉพาะการกระทำที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยคือการที่จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าโฉนดที่ดินของจำเลยหาย เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจจดบันทึกไว้ในสมุดรายงานประจำวันอันเป็นเอกสารราชการ การกระทำตามฟ้องที่จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าโฉนดที่ดินของจำเลยหาย เป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานมิได้กระทำต่อโจทก์และข้อความเท็จที่จำเลยแจ้งให้ร้อยตำรวจโทพ.จดบันทึกลงในสมุดรายงานประจำวันที่เป็นเอกสารราชการนั้น แม้จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137และมาตรา 267 ก็ตาม แต่ข้อความเท็จที่จำเลยแจ้งนั้น มิได้มีการกล่าวอ้างถึงการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นของโจทก์ ความที่ปรากฏว่าเป็นเท็จก็ดี สมุดรายงานที่เจ้าพนักงานจดบันทึกไว้มีข้อความเป็นเท็จก็ดีมิได้ทำให้สิทธิของโจทก์เกี่ยวกับการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในโฉนดต้องถูกเปลี่ยนแปลงหรือกระทบกระเทือนต่อการที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในทางที่ทำให้สิทธิที่มีอยู่ลดน้อยถอยลงในการกระทำความผิดของจำเลยในส่วนนี้โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายแม้จะได้ความต่อมาว่า จำเลยได้นำหลักฐานการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจไปดำเนินการต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอใบแทนโฉนดแล้วนำไปขายให้บุคคลอื่นอันเป็นการกระทำที่เกิดความเสียหายให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ที่กระทำต่อมาหลังจากการกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจและให้เจ้าพนักงานตำรวจจดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการสำเร็จแล้วนั้น เป็นการกระทำอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ จึงนำเอาการกระทำส่วนนี้มาเป็นข้อพิจารณาว่าโจทก์เสียหายในส่วนของการกระทำตามฟ้องไม่ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219

ผู้พิพากษา

อุดม เฟื่องฟุ้ง
ก้าน อันนานนท์
อัมพร ทองประยูร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android