คำพิพากษาย่อสั้น
++ เรื่อง จ้างทำของ ++
++
++ ทดสอบการทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++ ย่อข้อกฎหมายอย่างไม่เป็นทางการ - ขอชุดตรวจได้ที่งานย่อข้อกฎหมายระบบ CW โถงกลางชั้น 3 ++
++
++
++ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งกันว่า
++ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม2532 โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนประชาบำรุงตามแบบ สปช.105/29 ขนาด 1 ชั้น 4ห้องเรียน 1 หลัง กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 20 มกราคม 2533 ในราคา1,036,000 บาท ตกลงจ่ายค่าจ้างเป็น 3 งวด งวดที่ 1 เป็นเงิน250,000 บาท งวดที่ 2 เป็นเงิน 300,000 บาท และงวดที่ 3เป็นเงิน 486,000 บาท โดยจะเริ่มลงมือทำงานในวันที่ 1 สิงหาคม2532 หากจำเลยที่ 1 มิได้ลงมือทำงานภายในกำหนด หรือมีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาหรือล่วงเลยกำหนดเวลาแล้วเสร็จไปแล้ว โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีอำนาจว่าจ้างผู้อื่นทำงานต่อไปให้แล้วเสร็จ โดยจำเลยที่ 1ยอมจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าสิ่งของ ค่าคุมงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามจำนวนที่โจทก์จ่ายไปโดยสิ้นเชิง ถ้าจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดแต่โจทก์ยังไม่บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้ปรับเป็นรายวันวันละ 1,036 บาท นับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาถึงวันที่ทำงานเสร็จบริบูรณ์ ในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าเห็นว่าจำเลยที่ 1ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและใช้สิทธิตามสัญญา ข้อ 20 นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญา และถ้าโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ริบหลักประกันสัญญาและเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะโจทก์ต้องจ้างบุคคลอื่นทำงานต่อจนแล้วเสร็จตามสัญญาจ้างเหมาทำการก่อสร้างเอกสารหมาย จ.3
++ ต่อมาวันที่ 19มกราคม 2533 จำเลยที่ 1 ขอต่ออายุสัญญาจ้างออกไปมีกำหนด 150 วันโจทก์อนุมัติเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ส่วนราชการขยายเวลาสัญญาก่อสร้างเพราะปัญหาปูนซีเมนต์และเหล็กเส้นขาดแคลน วันที่ 19เมษายน 2533 จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานงวดที่ 1 ให้แก่โจทก์คณะกรรมการตรวจรับงานของโจทก์ได้ตรวจรับงานเมื่อวันที่ 23เมษายน 2533 และได้จ่ายค่าจ้างงวดที่ 1 เป็นเงิน 250,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 1ขอขยายเวลาการสร้างออกไปอีก 180 วัน โจทก์ก็อนุมัติเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติในเรื่องการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างหลังจากส่งมอบงานงวดที่ 1 แล้ว จำเลยทั้งสองมิได้เข้าดำเนินการก่อสร้างอีก โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองเร่งรัดการก่อสร้างต่อมาโจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่สามารถก่อสร้างอาคารเรียนให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาได้ จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2534 และริบเงินประกันตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 วางไว้ต่อโจทก์จำนวน 51,800 บาท เป็นค่าปรับ
++
++ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องคดีเมื่อพ้น 2 ปี นับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2535 อันเป็นวันที่โจทก์ว่าจ้างผู้รับเหมารายใหม่ให้ทำงานก่อสร้างต่อจากจำเลยทั้งสองหรือไม่
++ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างแก่จำเลยทั้งสองและขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาดังกล่าวเป็นค่าปรับและค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นแก่โจทก์จากการที่โจทก์ต้องจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างต่อไปให้แล้วเสร็จ จึงเป็นเรื่องฟ้องให้รับผิดตามข้อสัญญาที่ผูกพันกันอยู่อีกส่วนหนึ่ง มิใช่เรื่องที่ผู้ว่าจ้างให้ประกอบการงานเรียกเอาคืนซึ่งเงินทดรองที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (17) ซึ่งในเรื่องดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มิใช่มีกำหนด 2 ปี
++ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 26 กันยายน 2537จึงยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์เกิดสิทธิเรียกร้องตามสัญญา คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
++
++ ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่ 2 มีว่าค่าว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพลวัฒน์ก่อสร้างดำเนินการก่อสร้างต่อจากจำเลยทั้งสองในราคา 1,429,200 บาท สูงเกินไปหรือไม่
++ พยานโจทก์มีนายณรงค์ ธรรมวิชิต หัวหน้าฝ่ายการเงินและพัสดุ สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดปทุมธานี เบิกความตอบทนายความจำเลยทั้งสองถามค้านว่าในการว่าจ้างผู้อื่นมาดำเนินการก่อสร้างแทนจำเลยทั้งสองได้ดำเนินการโดยวิธีพิเศษและมิได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบเพราะมีความจำเป็นต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อเด็กนักเรียนจะได้ใช้เป็นอาคารเรียนและเบิกความตอบทนายความโจทก์ถามติงว่า ช่วงที่โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพลวัฒน์ก่อสร้างนั้น ภาวะขาดแคลนปูนซีเมนต์และเหล็กเส้นเริ่มผ่อนคลายลงบ้าง แต่ราคาก็ยังสูงอยู่ และนายสุรพลประเสริฐชัยกุล หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดพลวัฒน์ก่อสร้างเบิกความว่า ช่วงที่พยานเข้าทำสัญญากับโจทก์ ราคาวัสดุก่อสร้างสูงกว่าราคาเมื่อต้นปี 2532 ประมาณร้อยละ 5 ถึง 10 และในช่วงปี 2533วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์และเหล็กเส้นยังขาดแคลนอยู่บ้าง และเบิกความตอบทนายความจำเลยทั้งสองถามค้านว่า วัสดุก่อสร้างขาดแคลนถึงขนาดที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ขยายระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญาและมีมติให้ปรับราคาค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากสัญญาที่ตกลงกันไว้ด้วย
++ ส่วนนายสุรพล ชัยสดมภ์ ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายความโจทก์ถามค้านว่า ในช่วงปี 2538 วัสดุก่อสร้างไม่ขาดแคลนและมีราคาถูกลงด้วย จำเลยทั้งสองรับเหมาก่อสร้างอาคารแก่โจทก์ในราคาต่ำกว่าที่โจทก์ว่าจ้างบริษัททรีอาร์คอน จำกัด เนื่องจากขณะนั้นไม่มีผู้ใดรับเหมาและโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองช่วยรับเหมา
++
++ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยทั้งสองยอมรับว่าตกลงรับจ้างเหมาจากโจทก์ในราคาต่ำกว่าปกติ และขณะนั้นไม่มีผู้ใดยอมรับเหมา ประกอบกับเมื่อปี 2535 ในช่วงที่โจทก์ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพลวัฒน์ก่อสร้าง แม้ภาวะขาดแคลนวัสดุก่อสร้างจะผ่อนคลายลงบ้าง แต่ราคายังสูงอยู่ จึงไม่อาจนำราคาที่จ้างเหมาจำเลยทั้งสองมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดค่าว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพลวัฒน์ก่อสร้างได้ ส่วนค่าว่าจ้างบริษัททรีอาร์คอน จำกัดเมื่อปี 2538 แม้จะมีราคาต่ำกว่าราคาที่โจทก์ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพลวัฒน์ก่อสร้าง ก็เนื่องจากในขณะนั้นวัสดุก่อสร้างไม่ขาดแคลนและมีราคาถูกลงด้วย ภาวะการตลาดย่อมแตกต่างกัน และคำเบิกความของนายสุรพลในเรื่องราคาวัสดุก่อสร้างมิได้สับสนดังจำเลยทั้งสองอ้างจึงไม่อาจนำค่าว่าจ้างดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งการว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพลวัฒน์ก่อสร้างมิใช่กรณีตามปกติ แต่เป็นการว่าจ้างด้วยวิธีพิเศษต้องดำเนินงานต่อจากผู้รับเหมาเดิมซึ่งละทิ้งงาน 2 งวดเดิมไว้ และต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว ย่อมต้องมีราคาสูงขึ้น
++ ประกอบกับในการตกลงว่าจ้างก็ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการโจทก์ด้วยแล้ว และเมื่อพิจารณารายละเอียดในใบเสนอราคาเกี่ยวกับบัญชีปริมาณวัสดุและราคาก่อสร้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดพลวัฒน์ก่อสร้างตามเอกสารหมาย จ.33 และจ.34 ราคาที่โจทก์ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพลวัฒน์ก่อสร้างจึงมิได้สูงเกินไปดังจำเลยทั้งสองอ้าง แต่เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว
++ ข้อเท็จจริงไม่พอฟังว่า โจทก์ตกลงว่าจ้างในราคาตามอำเภอใจเพื่อให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหาย
++
++ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าปรับรายวันนับแต่วันครบกำหนดตามที่โจทก์ขยายเวลาให้จนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาหรือไม่
++ เห็นว่าสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 19 (1) กำหนดสิทธิของโจทก์ในกรณีที่จำเลยทั้งสองส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญาว่าโจทก์มีสิทธิปรับเป็นรายวัน นอกจากนั้นในวรรคท้ายของสัญญาข้อ 19 ดังกล่าวยังกำหนดสิทธิของโจทก์เอาไว้อีกว่า ในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าโจทก์ผู้ว่าจ้างเห็นว่าจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 20 นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วย
++ ซึ่งตามสัญญาข้อ 20 ระบุถึงเรื่องค่าเสียหายใดบ้างที่โจทก์จะเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสองหากโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จากสัญญาจ้างเหมาข้อ 19และข้อ 20 ดังกล่าว
++ เห็นได้ว่า หากจำเลยทั้งสองส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดอันเป็นการผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิปรับจำเลยทั้งสองเป็นรายวันได้ตามสัญญาข้อ 19 (1) นอกจากนั้นหากโจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายตามสัญญาข้อ 20 จากจำเลยทั้งสองตามสัญญาข้อ 19 วรรคท้ายได้อีกด้วย
++ ซึ่งสิทธิที่จะเรียกเอาค่าปรับรายวันกับสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายดังกล่าว แม้จะเป็นสิทธิที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตามสัญญาจ้างเหมาข้อเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นสิทธิที่แยกต่างหากจากกัน โจทก์จะเลือกใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงกรณีเดียว หรือเลือกใช้สิทธิทุกกรณีก็ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ก่อสร้างอาคารเรียนให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาที่โจทก์ขยายให้ทั้งสองครั้ง
++ ปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยานโจทก์ คือ นายณรงค์ธรรมวิชิต หัวหน้าฝ่ายการเงินและพัสดุของโจทก์ประกอบหนังสือของโจทก์ถึงจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.15 ว่า ก่อนที่โจทก์จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 แจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.3
++ ดังนี้ย่อมถือได้ว่า การสงวนสิทธิเรียกค่าปรับดังกล่าวเป็นการที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าปรับรายวันตามสัญญาข้อ 19 (1) แล้ว
++ เพราะปรากฏตามคำเบิกความของนายณรงค์พยานโจทก์ว่า หลังจากครบกำหนดเวลาที่โจทก์ขยายให้ทั้งสองครั้ง โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาทันที จนกระทั่งปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา อันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 19 วรรคท้าย ต่อเนื่องกับสัญญาข้อ 20 อีกส่วนหนึ่ง
++ ซึ่งไม่ขัดกับสิทธิในการที่โจทก์จะปรับจำเลยทั้งสองเป็นรายวันตามสัญญาข้อ 19 (1) แต่อย่างใด เพราะโจทก์ได้แสดงเจตนาโดยชัดแจ้งมาแต่แรกแล้วว่าจะใช้สิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.3 ได้
++ อย่างไรก็ดี ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่า สัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.3 มีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 20 มกราคม 2533 จ้างเหมากันในราคา 1,036,000 บาทตกลงจ่ายค่าจ้างเป็น 3 งวด งวดที่ 1 เป็นเงิน 250,000 บาทงวดที่ 2 เป็นเงิน 300,000 บาท และงวดที่ 3 เป็นเงิน 486,000 บาทเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2533 จำเลยที่ 1 ขอต่ออายุสัญญาจ้างออกไปมีกำหนด 150 วัน โจทก์อนุมัติ ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2533 จำเลยที่ 1ส่งมอบงานงวดที่ 1 ให้แก่โจทก์ คณะกรรมการตรวจรับงานของโจทก์ตรวจรับงานเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2533 และได้จ่ายค่าจ้างงวดที่ 1เป็นเงิน 250,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว ต่อมาวันที่ 25มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 1 ขอขยายเวลาการก่อสร้างออกไปอีก180 วัน โจทก์อนุมัติและกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 16 ธันวาคม 2533
++ หลังจากส่งมอบงานงวดที่ 1 แล้ว จำเลยทั้งสามมิได้เข้าดำเนินการก่อสร้างอีก ต่อมาโจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่สามารถก่อสร้างอาคารเรียนให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาที่ขยายให้ได้ จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2534 จากนั้นวันที่ 22มิถุนายน 2535 โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดพลวัฒน์ก่อสร้างเข้าดำเนินการก่อสร้างที่ค้างอยู่ในราคา 1,439,200 บาท
++ ดังนี้ เห็นได้ว่า หลังจากครบกำหนดเวลาที่โจทก์ขยายให้ครั้งสุดท้ายเป็นเวลาถึง 1 ปีเศษ โจทก์เพิ่งบอกเลิกสัญญาทั้ง ๆ ที่โจทก์ทราบถึงการที่จำเลยทั้งสองมิได้เข้าดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ก่อนสิ้นกำหนดเวลาที่โจทก์ขยายให้ดังกล่าวแล้ว ทั้งไม่ปรากฏเหตุผลสมควรที่แสดงให้เห็นถึงเหตุที่ต้องล่าช้าในการว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพลวัฒน์ก่อสร้างให้เข้าดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ค้างอยู่ในงวดที่ 2 และที่ 3ความล่าช้าดังกล่าวจึงเกิดจากการดำเนินงานของโจทก์เองรวมอยู่ด้วยแม้โจทก์จะมีสิทธิปรับจำเลยทั้งสองตามสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมายจ.3 ข้อ 19 (1) และมีสิทธิเรียกค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการต่อจากจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่เงินค่าปรับตามที่คู่สัญญากำหนดไว้ตามสัญญาข้อ 19 (1) และเงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาข้อ 20 (2)ถือได้ว่าเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อบรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นกรณีมีการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคหนึ่ง และ 383 วรรคหนึ่ง
++ เมื่อพิจารณาถึงจำนวนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าค่าจ้างสำหรับงานงวดที่ 2 และที่ 3 ที่ค้างอยู่ตามสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.3 ถึงเกือบเท่าตัวประกอบกับเหตุแห่งความล่าช้าของโจทก์ในการดำเนินงานของโจทก์เองแล้ว เห็นว่า เงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับนั้นมีจำนวนสูงพอสมควรแล้วไม่มีเหตุที่จะกำหนดค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาข้อ 19 (1) ให้โจทก์อีก
++
++ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์จะต้องนำเงินประกันตามสัญญาที่โจทก์รับไว้มาหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่
++ เห็นว่า หลักประกันดังกล่าวเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ซึ่งจำเลยทั้งสองนำมามอบแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา ตามข้อตกลงในสัญญาข้อ 3โดยธนาคารจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้น หากจำเลยทั้งสองพ้นจากความรับผิดตามสัญญาแล้ว โจทก์จะต้องคืนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารซึ่งมอบไว้เป็นหลักประกันแก่จำเลยทั้งสอง
++ ฉะนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญาและโจทก์ริบหลักประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันแล้ว เงินที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระแก่โจทก์จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา ต้องนำมาหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระแก่โจทก์ มิใช่ว่าเมื่อโจทก์มีสิทธิริบหลักประกันตามสัญญาข้อ 20 (1) จึงไม่อาจนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักออกจากค่าเสียหาย ++