คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185/2503

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เป็นบทลงโทษผู้ที่ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ในกรณีทั่วๆ ไปส่วนการที่จำเลยไม่ไปรายงานตนภายใน 24 ชั่วโมง ตามคำสั่งของตำรวจจราจรในกรณีจำเลยทำผิดกฎหมายจราจรจะเป็นผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 อีกด้วยหรือไม่นั้นต้องระลึกถึงหลักการใช้กฎหมายอาญาว่ากฎหมายจราจรมีความประสงค์จะลงโทษบุคคลผู้ขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้จากบทบัญญัติของกฎหมายนั้นๆเองเรื่องนี้ ถึงแม้จะมี พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2477 มาตรา 64 ให้อำนาจเจ้าพนักงานสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ละเมิด พระราชบัญญัติจราจรทางบกไปรายงานตนภายใน 24 ชั่วโมง ก็จริง แต่ พระราชบัญญัตินี้ก็ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษแก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น เพราะข้อความในมาตรา 67 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัตจราจรทางบก พ.ศ.2478 มาตรา 5 แสดงให้เห็นว่า การที่ให้ไปรายงานตนนั้น กฎหมายมีความประสงค์เพื่อความสดวกของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น คือ ผู้ไปรายงานยอมให้เปรียบเทียบ ก็ไม่ต้องถูกฟ้องเป็นจำเลย ฝ่ายเจ้าพนักงานก็ไม่ต้องเสียเวลาสอบสวนพยานเพื่อดำเนินคดีต่อศาล แต่ถ้าผู้ได้รับคำสั่งไม่ไปรายงาน ก็เท่ากับผู้นั้นปฏิเสธความผิดไม่ยอมให้เปรียบเทียบ ซึ่งก็มีทางแก้อยู่แล้ว คือเจ้าพนักงานดำเนินคดีฟ้องต่อศาลดุจคดีอื่นๆผู้ไม่ไปรายงานตนหามีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซ้ำอีกกระทงหนึ่งไม่
(ควรเทียบดูกับฎีกาที่ 728/2502 ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่เกี่ยวกับปัญหาเช่นเดียวกันนี้ แต่ข้อวินิจฉัยมีต่างกันบ้าง)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2477 มาตรา 64
  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2477 มาตรา 67
  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2478 มาตรา 5
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66

ผู้พิพากษา

บริรักษ์จรรยาวัตร
ไชยเจริญ สันติศิริ
ประจักษ์ศุภอรรถ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android