คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9520/2553

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 5 ต.ค. 2554 15:44:49

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 222 เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่า ยาแก้ไออันเป็นตำรับยาแผนปัจจุบันที่มีโคเดอีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เป็นส่วนผสมอันถือเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 จำนวน 7 ขวด ของกลาง มีปริมาตร 3,500 มิลลิลิตร และตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 7 (3) บัญญัติว่า ยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 คือ ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วย จากบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 มาเป็นส่วนผสมของตำรับยาแล้ว ไม่ว่ายาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จะมีจำนวนเท่าใด ย่อมต้องถือว่าตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เป็นส่วนผสมอยู่ดังกล่าวเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ทั้งสิ้น การที่จะพิจารณาว่าการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 จำนวนมากน้อยเพียงใดที่จะต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 181) จึงต้องถือตามจำนวนของยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 นั้นเองว่า เกิน 250 มิลลิลิตร หรือ 30 เม็ด หรือ 30 แคปซูล หรือไม่ ดังนี้ เมื่อยาแก้ไอที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสมของกลางอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 มีปริมาตร 3,500 มิลลิลิตร เกิน 250 มิลลิลิตร จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 181) พ.ศ. 2545
  • พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 71
  • พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 7
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222
  • พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 20

ผู้พิพากษา

ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
อาวุธ ปั้นปรีชา
สมชาย พันธุมะโอภาส

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android