คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2081/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 20 เม.ย. 2559 16:33:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้โจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชดใช้ค่าเสียหายตามคำสั่ง โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดหน้าที่อันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อโจทก์ จึงเป็นการฟ้องให้รับผิดทางแพ่งที่มาจากมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่โจทก์อาศัยคำสั่งดังกล่าวบังคับตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 อันจะต้องอาศัยสำนวนการสอบสวน จำเลยที่ 2 และที่ 3 สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์การกระทำของตนเองได้ สำนวนการสอบสวนของโจทก์เป็นเพียงพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาคดีในชั้นศาลเท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องโดยไม่ตั้งกรรมการสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาก่อนไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง โจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดฐานละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ทุจริตเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป เป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดทั้งในมูลละเมิดและมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน กฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
  • พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 30

ผู้พิพากษา

วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์
นิยุต สุภัทรพาหิรผล
บูรณ์ ฐาปนดุลย์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android