คำพิพากษาย่อสั้น
การที่อนุญาโตตุลาการตีความว่าคู่สัญญามีเจตนาที่แท้จริงและแน่นอนว่าจะให้มีการใช้อนุญาโตตุลาการภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายไทยในการระงับข้อพิพาท และตีความให้ใช้ พ.ร.บ อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันบังคับนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบของอนุญาโตตุลาการและมิใช่เป็นการใช้อำนาจนอกขอบเขตอำนาจ ทั้งไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ผู้คัดค้านยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) แต่ผู้คัดค้านพิมพ์ปีที่ยื่นข้อเรียกร้องเป็น ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) อนุญาโตตุลาการจึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า นับตั้งแต่การชำระเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 จนถึงวันที่ผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้าน) ยื่นข้อเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2547 สิทธิเรียกร้องของผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้าน) ไม่ขาดอายุความ แต่ความจริงผู้คัดค้านยื่นข้อเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ซึ่งสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2548 แล้ว ผู้คัดค้านยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 จึงขาดอายุความ เมื่อคู่พิพาทตกลงให้ใช้กฎหมายไทยในการระงับข้อพิพาทและข้อพิพาทนี้เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างทำของซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ มาตรา 193/34 (1) การชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 เป็นการรับสภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้บางส่วน ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 (1) และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น อายุความการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงสิ้นสุดวันที่ 16 พฤษภาคม 2548 เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาดังกล่าวสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงเป็นอันขาดอายุความ ผู้ร้องมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเรื่องอายุความโดยผิดหลงเช่นนี้หากมีการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีเหตุให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเสียตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (2) (ข) และกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นตามมาตรา 45 (1) ผู้ร้องจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้