คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10323/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 18 ต.ค. 2556 10:09:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ขอหมายเรียกผู้เสียหายมาศาลในวันนัดสืบพยานครั้งแรก ผู้เสียหายมาศาลในวันดังกล่าวแล้ว แต่ไม่อาจสืบพยานได้เพราะโจทก์นำพยานปาก ส. เข้าเบิกความต่อศาลยังไม่แล้วเสร็จและขออนุญาตเลื่อนคดีไปสืบพยานปากผู้เสียหายในวันอื่น ศาลจึงให้ผู้เสียหายลงชื่อทราบนัดไว้ แต่หลังจากนั้นผู้เสียหายก็ไม่มาศาลอีกจนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์แถลงเพียงว่าโจทก์ได้ติดตามและสอบถามเจ้าพนักงานตำรวจทราบว่าผู้เสียหายอยู่กับมารดาซึ่งมีอาชีพรับจ้าง มีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง จึงไม่ทราบว่าผู้เสียหายอยู่ที่ใด โดยไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่า ไม่สามารถติดตามตัวผู้เสียหายมาศาลได้อย่างแน่นอน แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์ก็เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นเนื่องจากเห็นว่าโจทก์ขอเลื่อนคดีมาหลายครั้ง ไม่แน่ว่าจะสามารถติดตามผู้เสียหายมาสืบได้หรือไม่เท่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่ามีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การผู้เสียหายเสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคสี่ คำให้การของผู้เสียหายและม้วนวีดิทัศน์การถามปากคำผู้เสียหายในชั้นสอบสวนจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า แม้ตามมาตรา 226/3 มีข้อยกเว้นให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าได้ แต่ศาลต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตามมาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง แต่พยานหลักฐานโจทก์อื่นๆ ที่จะรับฟังประกอบวีดิทัศน์การถามปากคำผู้เสียหายล้วนแต่เป็นพยานบอกเล่า ซึ่งข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่าไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความจริงว่า จำเลยเป็นคนร้ายกระทำชำเราผู้เสียหายได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3

ผู้พิพากษา

วัฒนชัย โชติชูตระกูล
มนูพงศ์ รุจิกัณหะ
สมควร วิเชียรวรรณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android