คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6270/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 13 ธ.ค. 2555 13:44:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีความมุ่งหมายให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าแยกต่างห่างจากกันโดยชัดเจน โดยเฉพาะกรณีลิขสิทธิ์นั้น งานอันจะมีลิขสิทธิ์ได้ต้องเกิดจากการที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์งานประเภทใดประเภทหนึ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครองเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามบทบัญญัติของมาตรา 8 ประกอบมาตรา 6 และคำนิยาม "ผู้สร้างสรรค์" ตามมาตรา 4 อันหมายถึงผู้สร้างสรรค์จะต้องใช้ความคิดและการกระทำให้เกิดงานขึ้นโดยมุ่งหมายให้เกิดผลงานอันมีลักษณะเป็นงานสร้างสรรค์ที่จัดได้ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้ความว่าโจทก์ใช้รูปเด็กศีรษะโตอย่างเครื่องหมายการค้า โดยเดิมโจทก์ผลิตสินค้าปากกาลูกลื่นออกจำหน่ายและต่อมาได้ว่าจ้าง ร. ออกแบบภาพประดิษฐ์รูปเด็กศีรษะโตเพื่อใช้กับสินค้าปากกาลูกลื่นและผลิตภัณฑ์แบบต่างๆ ของโจทก์ออกจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ส่อแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ ร. ออกแบบภาพประดิษฐ์นี้เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้า โดยภาพที่เป็นรูปเด็กดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมทำนองเดียวกับหัวปากกาลูกลื่น ทั้งมีรูปปากกาลูกลื่นปรากฏประกอบกับรูปเด็กด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงว่าผู้ออกแบบได้ออกแบบรูปนี้ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ให้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงไม่ใช่การสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดงานสร้างประเภทศิลปกรรมอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ในภาพประดิษฐ์รูปเด็กศีรษะโต อันจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปเด็กผู้ชายมีศีรษะกลมโต สวมเสื้อ กางเกงขาสั้น ใส่รองเท้า แขนสองข้างวางแนบลำตัว ยืนตัวตรงขาชิดกัน และมีปากกายาวเรียวบางพาดเฉียงด้านหลังจากซ้ายไปขวา ประกอบกับคำว่า BIC ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นรูปคนประดิษฐ์มีรูปมีดโกนพาดเฉียงด้านหลังจากซ้ายไปขวา และมีคำว่า Razor King Sensitive Skin Shaver มีรูปมงกุฎอยู่บนตัวอักษร Z เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีส่วนคล้ายกันบ้างก็เฉพาะรูปเด็กประดิษฐ์หรือคนประดิษฐ์เท่านั้น นอกนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งรูปเด็กหรือคนประดิษฐ์ก็มีลักษณะนำมาจากรูปร่างของคนอันเป็นสิ่งที่ควรใช้กันได้ทั่วไป ไม่ใช่ให้คนใดคนหนึ่งหวงกันใช้แต่เพียงผู้เดียว เพียงแต่ผู้นำมาใช้ภายหลังต้องทำให้เห็นส่วนแตกต่างให้สังเกตเห็นได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าต่างเจ้าของกันโดยไม่สับสนหลงผิด ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวประกอบรายละเอียดอื่นและภาพเครื่องหมายการค้าทั้งสองโดยภาพรวมแล้ว มีความแตกต่างเพียงพอให้สังเกตได้ เมื่อนำสินค้าของโจทก์และสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปวางรวมกันแล้ว ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13

ผู้พิพากษา

ประจวบ พัชนีรัตนกรณ์
อร่าม เสนามนตรี
ธนพจน์ อารยลักษณ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android