คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 8 ม.ค. 2556 10:55:01

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยเป็นพนักงานธนาคารย่อมรู้ดีถึงความแตกต่างระหว่างสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาตัวแทน หากโจทก์มอบเงิน 300,000 บาท ให้จำเลยเพื่อให้จำเลยไปปล่อยเงินกู้แทนโจทก์โดยจำเลยเพียงมีหน้าที่เก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้มาส่งให้โจทก์ตามข้อกล่าวอ้างของจำเลย จำเลยก็สามารถทำสัญญาตัวแทนมอบเป็นหลักฐานให้แก่โจทก์ตรงตามข้อเท็จจริงได้ แต่จำเลยกลับทำเป็นสัญญากู้เงินจำนวนดังกล่าวให้ไว้แก่โจทก์เท่านั้น ย่อมชี้ให้เห็นว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันจริง แม้จำเลยนำเงินที่ได้จากโจทก์ไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมต่อในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ก็เป็นเรื่องที่จำเลยได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของดอกเบี้ย การที่จำเลยไม่ได้รับชำระหนี้จากบุคคลที่กู้ยืมเงินจากจำเลยก็เป็นเรื่องที่จำเลยต้องเสี่ยงภัยเอาเอง แต่จำเลยยังคงต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินที่ทำให้ไว้แก่โจทก์ กรณีไม่ใช่เรื่องที่จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์แต่อย่างใดข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสัญญาที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์เป็นสัญญากู้ยืมเงินที่แท้จริงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางสัญญาตัวแทนระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155

ผู้พิพากษา

ธนฤกษ์ นิติเศรณี
ดิเรก อิงคนินันท์
นิยุต สุภัทรพาหิรผล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android