คำพิพากษาย่อสั้น
การอ้างสิทธิที่จะผ่านที่ดินของบุคคลอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ที่ดินที่แบ่งแยกออกมานั้นจะต้องไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้ แม้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 แบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจากที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 81 ทำให้ที่ดินแปลงนี้ถูกที่ดินที่แบ่งแยกในคราวเดียวกันปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม แต่ในเวลานั้น ฉ. ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ได้รับที่ดินจากการแบ่งแยกยังเป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับที่ดินแปลงที่ได้รับการแบ่งแยกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 (ก่อนการแบ่งแยกตามคำพิพากษาศาลฎีกา) และที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 เดิมนั้นมีทางพิพาทกว้างประมาณ 10 เมตร เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่ง ฉ. สามารถใช้ทางพิพาทในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะของที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ได้ จึงถือได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ที่แบ่งแยกออกมานั้นมีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้อยู่แล้ว สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกมาในคราวเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ย่อมหมดไปตั้งแต่นั้นแล้ว แม้ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 เดิมจะถูกบังคับให้แบ่งแยกและบังคับให้โอนขายแก่จำเลยตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ทำให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอีกครั้ง โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ก็จะกลับไปใช้สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาด้วยกันในครั้งก่อนตามมาตรา 1350 อีกไม่ได้ คงมีสิทธิที่จะผ่านที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ในฐานะทางจำเป็นตามมาตรา 1349 เท่านั้น เมื่อโจทก์นำสืบฟังได้ว่า การใช้ทางพิพาทบนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 79060 ของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะซึ่งโจทก์เคยใช้ผ่านมาก่อนมีระยะทางเพียง 50 เมตร แต่หากใช้เส้นทางอื่นผ่านที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาด้วยกันในครั้งก่อนเพื่อออกทางถนนราชมรรคาต้องใช้ระยะทางถึง 100 เมตรเศษ ซึ่งไกลกว่ากันถึงหนึ่งเท่าตัวเช่นนี้ทางพิพาทย่อมสะดวกและเหมาะสมที่จะเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์กว่าทางอื่น โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 79060 ของจำเลยเป็นทางจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์ได้
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้จำเลยเปิดทางกว้าง 2.50 เมตร นั้น ก็เพื่อที่จะให้โจทก์ได้ใช้รถยนต์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบันแล่นเข้าออกได้โดยสะดวก การที่จำเลยจะขอให้เปิดทางให้โจทก์กว้างเพียง 2 เมตร ย่อมทำให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ไม่สะดวกรวดเร็วซึ่งเป็นการไม่เหมาะสมแก่สภาพการณ์และความเจริญของบ้านเมืองในปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็ว การกำหนดให้จำเลยเปิดทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นมีขนาดกว้าง 2.50 เมตร เพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้จึงน่าจะเหมาะสมแล้ว