คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2832/2536

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยไม่ได้ยื่นใบแต่งทนายตั้ง ม. ให้เป็นทนายของจำเลยต่อศาลชั้นต้น ดังนั้น คำอุทธรณ์ของจำเลยซึ่ง ม. ลงชื่อในฐานะทนายจำเลยโดยไม่ได้ยื่นใบแต่งทนายเข้ามาในสำนวนย่อมเป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยมานั้นเป็นเรื่องผิดระเบียบ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการให้จำเลยลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์เสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคแรกประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การที่ ม. ยื่นคำร้องและใบมอบฉันทะให้เสมียนทนายฟังคำพิพากษาและถ่ายคำพิพากษาแทน ม. ในฐานะทนายจำเลย ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตโดยไม่ปรากฏว่ามีใบแต่งทนายที่จำเลยตั้ง ม. เป็นทนายจำเลยยื่นเข้ามาในสำนวนเป็นเหตุให้ ม. เข้าใจว่าจำเลยยื่นใบแต่งทนายตั้ง ม. เป็นทนายต่อศาลชั้นต้นแล้ว จึงได้ทำคำฟ้องอุทธรณ์ยื่นต่อศาลโดยไม่ได้ยื่นใบแต่งทนายเข้ามาเสียให้ถูกต้อง และเมื่อศาลชั้นต้นตรวจรับอุทธรณ์ก็ไม่ได้ทักท้วงว่า จำเลยมิได้ยื่นใบแต่งทนายตั้งม. เป็นทนายจำเลย เพื่อคืนคำฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลยไปทำมาใหม่หรือแก้ไขเสียให้ถูกต้อง พฤติการณ์ของ ม. ดังกล่าวเห็นได้ว่ามิใช่จำเลยจงใจประวิงคดีหรือเอาเปรียบในเชิงคดี จึงมีเหตุอันสมควรที่จะสั่งให้จำเลยแก้ไขข้อผิดระเบียบนั้นเสียก่อน การที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจพิพากษายกคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่สั่งให้จำเลยแก้ไขข้อผิดระเบียบนั้นเสียก่อน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่สมควรศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ดุลพินิจศาลอุทธรณ์เสียใหม่ ให้ศาลชั้นต้นจัดการให้จำเลยลงชื่อในคำฟ้องอุทธรณ์ในฐานะผู้อุทธรณ์ แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247

ผู้พิพากษา

สุนพ กีรติยุติ
พัลลภ พิสิษฐ์สังฆการ
มงคล สระฏัน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android