คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5444/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 9 ธ.ค. 2553 09:07:20

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 นั้น เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรม คือ ลูกหนี้กับผู้ได้ลาภงอกจากนิติกรรมเป็นจำเลยในคดี จะฟ้องเพียงคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้วคำพิพากษาของศาลย่อมไม่ผูกพันลูกหนี้หรือผู้ได้รับลาภงอก
อ. เป็นลูกหนี้ของโจทก์ แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของ อ. และเป็นผู้ได้รับลาภงอกจากการกระทำนิติกรรมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินและบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 มิได้ฟ้อง อ. ด้วย แม้จะปรากฏว่า อ. ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ อ. ได้ การที่โจทก์บรรยายฟ้องมาว่า ก่อน อ. ถึงแก่กรรมได้พักอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลรักษา อ. มาโดยตลอด จึงเป็นไปไม่ได้ที่ อ. จะขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะขัดต่อเหตุผล ถือว่านิติกรรมดังกล่าวทำเพื่อฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้นเป็นเพียงการบรรยายฟ้องเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า อ. กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันทำนิติกรรมเพื่อฉ้อฉลโจทก์เท่านั้น หาใช่การบรรยายฟ้องเพื่อแสดงให้เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ อ. ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมคดีนี้ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

ผู้พิพากษา

วีระชาติ เอี่ยมประไพ
ประทีป เฉลิมภัทรกุล
มนูพงศ์ รุจิกัณหะ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android