คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 4 ส.ค. 2553 11:26:27

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยและมีคำสั่งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าถอนคำสั่งรับจดทะเบียนและปฏิเสธไม่รับจดทะเบียน จึงเป็นเรื่องของการฟ้องเพื่อให้ยกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า หาได้เป็นการฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยดังกล่าวต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใดไม่ การที่จำเลยดังกล่าวจะได้ดำเนินการใด ๆ โดยส่วนตัวหรือไม่ อย่างไรนั้น จึงไม่มีผลต่อคำพิพากษาของศาล นอกจากนี้การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย และโจทก์ฟ้องจำเลยอื่น ๆ ซึ่งเป็นกรรมการของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ก็เป็นเรื่องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ ฝ่ายจำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างเหตุที่จำเลยดังกล่าวไม่ได้เข้าร่วมประชุมมาปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า "INTEL" (อินเทล) ไว้หลายคำขอซึ่งส่วนใหญ่จะ
เป็นคำว่า "INTEL" แต่เพียงคำเดียว ดังนั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "INTEL Lip" แล้วจะเห็นว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายต่างเป็นอักษรโรมัน มีจำนวนตัวอักษรที่เหมือนกันและอยู่ในลำดับเดียวกันถึง 5 ตัว คือ I, N, T, E, L โดยเครื่องหมายการค้าคำว่า "INTEL Lip" จะมีตัวอักษรโรมันเพิ่มเติมอีก 3 ตัว เป็นคำต่อท้ายคือ L, i และ p ซึ่งอักษรโรมัน 5 ตัวแรกนั้นมีลักษณะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่คล้ายกับอักษรโรมันในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ส่วนอักษรโรมันอีก 3 ตัวนั้น มีลักษณะเป็นตัวเขียน ลักษณะของคำจึงมีความคล้ายกัน ในส่วนของเสียงเรียกขานนั้น อาจพิจารณาได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็น 1 คำ อ่านออกเสียงได้ 2 พยางค์ คือ "อิน-เทล" ส่วนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 387379 เป็นคำ 2 คำ อ่านออกเสียงได้ 3 พยางค์ คือ "อิน-เทล-ลิบ" ทำให้เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายเหมือนกันใน 2 พยางค์แรก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญและสาธารณชนส่วนใหญ่จะจดจำได้มากที่สุด จึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "INTEL" (อินเทล) ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "INTEL Lip" ตามคำขอเลขที่ 387379 แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำอื่น เช่น inside, INSIDE, Proshare หรือ TEAMSTATION อยู่ด้วยนั้น ก็เป็นภาคส่วนในเครื่องหมายการค้าอื่น ๆ ของโจทก์เท่านั้น
วัตถุประสงค์ให้การคุ้มครองแก่เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้น เพราะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีการใช้มานานจนเป็นที่แพร่หลายทั่วไปและอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างสูงในการดำเนินกิจการตลอดจนการโฆษณาประชาสัมพันธ์จนทำให้เครื่องหมายการค้านั้นเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป ดังนั้น หากมีการนำเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังกล่าวไปใช้กับสินค้าต่างจำพวกกัน ก็อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ กฎหมายจึงไม่อนุญาตให้มีการกระทำเช่นนั้น
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44

ผู้พิพากษา

พรเพชร วิชิตชลชัย
พลรัตน์ ประทุมทาน
ธนพจน์ อารยลักษณ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android