คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7398/2551

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 16 ธ.ค. 2552 15:59:49

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2544 บริษัทจำเลยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 47.87 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยถือหุ้นร้อยละ 24.29 ธนาคาร ก. ถือหุ้นร้อยละ 7.86 และประชาชนทั่วไปถือหุ้นที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 20 ของหุ้นทั้งหมด เมื่อการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยแปรรูปเป็นบริษัท ป. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 บริษัท ป. จึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 (2) ทำให้บริษัทจำเลยมีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือรัฐวิสาหกิจตาม มาตรา 6 (1) ไม่เกินร้อยละ 50 บริษัทจำเลยจึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจและไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 อีกต่อไป แต่ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงานทั่วไป อีกทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทจำเลยซึ่งเป็นสหภาพที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ย่อมสิ้นสภาพการเป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจลงในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ด้วย โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 24
เมื่อเดือนมกราคม 2545 ถึงธันวาคม 2545 โจทก์ไม่ไปถึงสถานที่ทำงานในเวลา 8 นาฬิกา อันเป็นเวลาทำงานตามปกติรวม 35 ครั้ง จำเลยออกหนังสือเตือนลงวันที่ 11 มกราคม 2546 ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2546 โจทก์แสดงกิริยาดูหมิ่นเหยียดหยามและพูดจาไม่สุภาพหยาบคายต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรง จำเลยออกหนังสือเตือนลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 โดยหนังสือเตือนทั้งสองฉบับระบุว่า เป็นเรื่องเตือนให้ปรับปรุงความประพฤติ และระบุเรื่องการกระทำผิดวินัยของโจทก์ด้วย โดยมีข้อความเรื่องลงโทษโจทก์ด้วยการออกหนังสือตักเตือน หลังจากนั้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงมีนาคม 2546 โจทก์ยังคงทำผิดซ้ำคำเตือนโดยไม่ไปถึงอาคารสถานที่ทำงานและไม่ปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา รวม 13 ครั้ง จำเลยจึงมีหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2546 ตามเอกสารหมาย ล.12 ระบุว่า หนังสือแจ้งการกระทำผิดซ้ำคำเตือน มีข้อความระบุความผิดของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวแล้วยังระบุว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน ทั้งระบุว่าบริษัทจะพิจารณาลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต่อไปโดยมิได้มีข้อความเรื่องลงโทษโจทก์ด้วยการออกหนังสือตักเตือน หลังจากออกหนังสือฉบับนี้ได้ 9 วัน จำเลยออกหนังสือปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงาน ดังนี้ หนังสือแจ้งการกระทำผิดซ้ำคำเตือนตามเอกสารหมาย ล.12 ดังกล่าว จึงมิใช่หนังสือเตือน แต่เป็นหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 24
  • พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17

ผู้พิพากษา

วิเทพ พัชรภิญโญพงศ์
วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์
มานัส เหลืองประเสริฐ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android