คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1604/2512

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

เรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ก็ฎีกาได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ใช้กำลังกาย ไม้ตะพด เป็นอาวุธ ชกต่อยและตีประทุษร้ายร่างกายโจทก์ถูกบริเวณศีรษะแตกจนโลหิตไหล และถูกตามใบหน้าและลำตัวจนฟกช้ำดำเขียวหลายแห่ง เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่โจทก์ ดังนี้ เป็นฟ้องที่บรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์จนโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายของส่วนใดของร่างกาย และลักษณะบาดแผลที่เกิดจากถูกจำเลยทำร้ายเป็นอย่างไร ไว้ชัดแจ้งเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม และเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีนี้แต่ผู้เดียวในข้อหาว่าทำร้ายร่างกายโจทก์ในคดีนี้ มิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วย แม้มูลคดีเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเดียวกับคดีนี้ และโจทก์ในคดีนี้จะได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีนั้นก็ตาม ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลย ที่ 1 ที่ 2 ก็หาเป็นฟ้องซ้ำไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยังไม่เคยถูกฟ้องและมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องในมูลคดีเดียวกันนี้มาก่อน
โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำความผิดรวม 4 กระทงคือความผิดต่อร่างกายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม และความผิดต่อเสรีภาพ โดยเฉพาะข้อหาว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดต่อร่างกายนั้น ปรากฏว่าเป็นข้อหาเดียวกับที่พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีนี้หาว่าทำร้ายร่างกายโจทก์ไว้ในสำนวนคดีอื่นซึ่งโจทก์ในคดีนี้ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ คดีนั้นถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์ในคดีนี้มิใช่ผู้เสียหายเพราะเป็นกรณีต่างวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นคำพิพากษาในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ก็ย่อมได้รับผลนี้ด้วย ฉะนั้น โจทก์จะมาฟ้องหาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ในมูลคดีเดียวกับคดีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 แล้วหาได้ไม่ ส่วนความผิดข้ออื่นๆ โจทก์ยังเป็นผู้เสียหาย และมีอำนาจฟ้องในความผิดนั้นๆ ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 89
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225

ผู้พิพากษา

จินตา บุณยอาคม
บัญญัติ สุขารมณ์
วินัย ทองลงยา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android