คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 497/2544

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

จำเลยอนุมัติให้โจทก์เกษียณอายุก่อนกำหนดเมื่อวันที่ 21มกราคม 2542 สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ 22 มกราคม 2542 เป็นต้นไป แม้สัญญาจ้างกำหนดจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน จำเลยก็คงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เพียงวันที่ 21 มกราคม 2542 เท่านั้น ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันที่ 22ถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 ให้แก่โจทก์อีก
กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเฉพาะกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวแก่ลูกจ้างล่วงหน้า ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น การที่โจทก์ยื่นคำขอเกษียณอายุก่อนกำหนดตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด แม้จะขอให้จำเลยอนุมัติให้ลาออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 และจำเลยเพิ่งจะอนุมัติให้ลาออกในวันที่ 21 มกราคม 2542 ก็เป็นการยื่นคำขอและการอนุมัติให้ลาออกตามโครงการดังกล่าวนั่นเอง อันเป็นการอนุมัติให้ลาออกตามคำขอของโจทก์ จึงถือว่าเป็นการขอลาออกจากงานด้วยความสมัครใจของโจทก์มิใช่เป็นการเลิกจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์
โจทก์ยื่นคำขอเกษียณอายุก่อนกำหนด แม้ไม่มีข้อความที่แสดงว่า โจทก์ยินยอมสละสิทธิการเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและ วันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามที่โจทก์มีสิทธิอยู่แล้ว แต่พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 ที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้แก่ ลูกจ้างนั้นจะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มี ความผิดตามมาตรา 119 ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายลาออกเอง จำเลย จึงไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119

ผู้พิพากษา

ปัญญา สุทธิบดี
กมล เพียรพิทักษ์
พูนศักดิ์ จงกลนี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android