คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4083/2532

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ประมวลรัษฎากร มาตรา 50(1) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หักภาษี ณที่จ่ายโดยวิธีคูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายเพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักภาษีไว้เท่านั้นดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีโดยใช้สูตรสำเร็จของกรมสรรพากรตามคำสั่งของกรมสรรพากรที่ ป. 2/2526 ซึ่งระบุวิธีคำนวณแตกต่างไปจากบทบัญญัติ ดังกล่าว และได้ตัวเลขแตกต่างกันโดยไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ การประเมินโดยวิธีการตามคำสั่งนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาที่ว่าโจทก์ร้องขอให้กรมสรรพากรคืนเงินภาษีที่ชำระเกินไปคืนเมื่อพ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไปหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การขอคืนเงินภาษีอากรที่ได้ชำระเกินไปคืนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 63 นั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีอากรแล้ว โจทก์ก็ไม่จำต้องร้องขอต่อเจ้าพนักงานประเมินแต่โจทก์มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไป ตามบทมาตราดังกล่าวได้ดังนั้น การที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกเลิกการประเมินและให้เครดิตภาษีตามจำนวนที่โจทก์ชำระเกินไปในปี พ.ศ. 2526 ให้โจทก์ และจำเลยได้รับอุทธรณ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 จึงเป็นการร้องขอให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 30ธันวาคม 2526 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไปแล้วโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าภาษีอากรที่ชำระเกินคืน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 41
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 48
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 50
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 63

ผู้พิพากษา

ปิ่นทิพย์ สุจริตกุล
วิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์
ประวิทย์ ขัมภรัตน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android