คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2541

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
บันทึกข้อตกลงระหว่างโจท์และจำเลยเป็นข้อตกลงมีวัตถุประสงค์เป็นการระงับข้อพิพาทในเรื่องการหย่าโดยตรง โดยเฉพาะข้อตกลงซึ่งระบุว่าโจทก์และจำเลยตกลงที่จะไม่ทำการจดทะเบียนหย่าซึ่งกันและกัน และโจทก์ยอมจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินบำเหน็จหรือบำนาญให้แก่จำเลย ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนี-ประนอมยอมความตาม ป.พ.พ.มาตรา 850 ย่อมทำให้ประเด็นเนื่องการหย่าซึ้งทั้งโจทก์และจำเลยยอมสละระงับสิ้นไปตามมาตรา 852 อีกทั้งในสัญญาประนีประนอม-ยอมความก็ไม่มีข้อความใดระบุว่า จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ จึงไม่อาจแปลสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เป็นเรื่องจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์หรือแปลสาเหตุการทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ว่าเกิดจากโจทก์จำเลยทะเลาะวิวาทกันด้วยเหตุที่โจทก์ได้ บ.เป็นภริยาอีกคนหนึ่งจนจำเลยประสงค์จะหย่าจากโจทก์แต่กรณีเป็นเรื่องจำเลยมีสิทธิที่จะหย่าโจทก์ได้ เนื่องจากโจทก์มีภริยาอีกคนหนึ่งและทิ้งร้างจำเลยไป การที่โจทก์ยินยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ยินยอมหย่ากับจำเลย และจำเลยสละสิทธิที่จะขอหย่ากับโจทก์โดยจำเลยขอรับค่าอุปการะเลี้ยงดูแทนเท่านั้น แม้จำเลยทราบดีว่าเมื่อทำสัญญาประนีประนอม-ยอมความแล้ว โจทก์จำเลยก็ต้องแยกกันไปทำมาหากินเช่นเดิมก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ไปอยู่กับ บ.เช่นเดิม โดยจำเลยไม่ติดใจเรื่องหย่ากับโจทก์หรือฟ้องร้อง บ.ตามที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอม-ยอมความเท่านั้น และในสัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่มีข้อใดที่ระบุห้ามมิให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์ปฏิบัติต่อจำเลยนับแต่โจทก์ทิ้งร้างจำเลยจนกระทั่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์สมัครใจแยกกันอยู่กับจำเลยฝ่ายเดียวเท่านั้น ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวนั้นย่อมไม่เปิดโอกาสให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ได้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมีความสมัครใจที่จะแยกกันอยู่กับโจทก์ นอกจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จำเลยได้ตกลงกันนอกเหนือจากข้อสัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ เหตุที่โจทก์จำเลยแยกกันอยู่มาเกิน 3 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมิได้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของจำเลยเพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขแต่เป็นความสมัครใจของโจทก์ฝ่ายเดียวเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยเหตุฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 1516 (4/2) ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 10
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516

ผู้พิพากษา

ชวลิต ธรรมฤาชุ
สะสม สิริเจริญสุข
สมคิด ไตรโสรัส

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android