คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2504

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกจับและควบคุมตัวฐานกบฏไว้แล้ว ไม่ได้ทำอะไรขึ้นอีกระหว่างนั้น ผู้ใดร่วมกันเพทุบายควบคุมตัวเขาไปฆ่าเสียนั้น ย่อมไม่ใช่เป็นการกระทำอันเกี่ยวเนื่องจากการป้องกัน ระงับหรือปราบปราม อันจะถือว่าไม่เป็นความผิด ตามพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 มาตรา 4
ในกรณีที่จำเลยกับพวกเจ้าพนักงานตำรวจได้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ โดยนำผู้ต้องหาไปฆ่าเสีย นั้น ไม่เข้าลักษณะเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ การชันสูตรพลิกศพผู้ตายจึงไม่ต้องมีผู้พิพากษาร่วมด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 2
ขณะเกิดเหตุ ยังมิได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา นั้น จะเอาความในมาตรา 289 (4) มาใช้ไม่ได้ เพราะมาตรานี้ไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้กระทำผิดในทางใด
เมื่อพยานหลักฐานไม่ได้ความชัดว่า จำเลยได้ร่วมรู้ในแผนการณ์ที่จะกำจัดผู้ตายมาก่อน ไม่เคยมีสาเหตุกับผู้ตาย บางคนก็ไม่รู้จักกัน การกระทำของจำเลยเห็นได้ว่าเป็นเครื่องมือของผู้อื่นที่ใช้ให้กระทำ จึงถือไม่ได้ว่า กระทำโดยพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย อนึ่งปรากฎว่าผู้ตายถูกยิงด้วยปืนกลตายทันที จึงถือไม่ได้ว่ากระทำโดยทรมานหรือแสดงความโหดร้ายให้ผู้ตายได้รับความลำบากอย่างสาหัส
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2499 มาตรา 4
  • กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 250
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

ผู้พิพากษา

ชวน สิงหลกะ
อนุสสรนิติสาร
สำราญ ศิริพันธ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android