คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8324/2544

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 67 บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนเฉพาะกรณีที่ลูกจ้างมิได้มีความผิดตามมาตรา 119 การที่กฎหมายกำหนดให้นำความผิดตามมาตรา 119 มาประกอบการพิจารณาการได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้าง เพราะความผิดดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่จะชี้ว่านายจ้างเลิกจ้างด้วยเจตนากลั่นแกล้งไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปจนครบ 1 ปีหรือไม่ ถ้าลูกจ้างไม่มีความผิดตามมาตรา 119 แต่ถูกเลิกจ้าง ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรและเป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างไม่อาจทำงานต่อไปได้และต้องเสียสิทธิที่จะได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 30 ดังนั้น ในปีที่เลิกจ้างแม้ลูกจ้างจะทำงานยังไม่ครบ 1 ปี นายจ้างจะต้องชดใช้สิทธิที่ลูกจ้างต้องเสียไปจากการกระทำโดยไม่ชอบของนายจ้างด้วยการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ การจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนดังกล่าวจะพึงมีได้เฉพาะกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง และลูกจ้างไม่มีความผิดตามมาตรา 119เท่านั้น หาได้นำมาใช้บังคับแก่กรณีลูกจ้างลาออกจากงานโดยความสมัครใจด้วยไม่ เพราะการลาออกโดยความสมัครใจของลูกจ้างย่อมไม่เป็นการกลั่นแกล้งของนายจ้าง นายจ้างจึงไม่ต้องชดใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างต้องเสียไปจากการลาออกโดยการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่ลาออกตามส่วนตามมาตรา 67
ลูกจ้างที่ลาออกจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างรวมทั้งในปีก่อนและจะได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่เพียงใด ต้องเป็นไปตามมาตรา 30 และมาตรา 56 ในปีที่ จ. ลาออก โจทก์ในฐานะนายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง 13 วัน และก่อนลาออกโจทก์อนุญาตให้ จ. ลาหยุดพักผ่อนประจำปี 8 วัน การหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าว เป็นการหยุดตามที่โจทก์และ จ. ตกลงกันโดยสุจริต จึงเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีโดยชอบของลูกจ้าง แต่ถ้าขณะลาออก จ. ยังไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปีหรือหยุดแล้วแต่ยังไม่ครบ 13 วัน ซึ่งเป็นกรณีนายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีทั้ง 13 วันหรือบางส่วนไว้ล่วงหน้าและเป็นวันหลังจากที่ จ. ลาออก จ. ก็จะไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและไม่มีสิทธิให้นายจ้างนำวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้หยุดมาเฉลี่ยเพื่อจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่ลาออกได้ แต่เมื่อ จ. หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิและตามวันที่ได้ตกลงกับโจทก์ไปแล้วก่อนลาออก โจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเต็มจำนวน 8 วันให้แก่ จ.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 56
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119

ผู้พิพากษา

มงคล คุปต์กาญจนากุล
สกนธ์ กฤติยาวงศ์
พูนศักดิ์ จงกลนี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android