คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7540/2554

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 12 ธ.ค. 2557 10:05:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้จำเลยเป็นเจ้าอาวาสของโจทก์ร่วมและได้รับเงินเดือนประจำที่เรียกว่านิตยภัตจากเงินงบประมาณของรัฐ แต่ผู้ที่ได้รับเงินเดือนประจำที่จะถือว่าเป็น "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งเจ้าอาวาสไม่อยู่ในความหมายดังกล่าว และในปัจจุบันวัดจัดตั้งขึ้นโดยวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งกำหนดให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทน แต่ก็มีอำนาจอย่างจำกัดตามมาตรา 37 เฉพาะในการบำรุงวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม และอื่นๆ อันเป็นกิจการของสงฆ์โดยเฉพาะ ส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมการศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการ วัดจึงหาใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ไม่ว่าในตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือในตำแหน่งอื่นใดก็ตาม จึงหาได้อยู่ในความหมายของคำจำกัดความว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ส่วน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 45 ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา" ก็เป็นเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่พระภิกษุบางตำแหน่งเท่านั้น และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และฉบับปัจจุบันบัญญัติให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้น โดยบัญญัติถึงกระบวนการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้เป็นกรณีพิเศษโดยใช้วิธีการไต่สวนเท่านั้น บุคคลอื่นๆ คงใช้กระบวนการสอบสวนตามปกติตาม ป.วิ.อ. ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนมิได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง
มาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) กำหนดให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือนับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น ข้อความในมาตรา 233 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่จำเลยเบิกความเป็นพยาน คำเบิกความของจำเลยย่อมใช้ยันจำเลยนั้นได้ และศาลอาจรับฟังคำเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ แต่การที่จำเลยตอบคำถามก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จำเลยย่อมไม่อาจคาดหมายได้ว่าคำเบิกความของตนจะใช้รับฟังลงโทษตนเองได้ บทบัญญัติดังกล่าวมีผลเป็นโทษแก่จำเลย จึงไม่อาจมีผลย้อนหลัง และถือไม่ได้ว่าโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว
กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความในมาตรา 40 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ข้อ 5 บัญญัติให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน 3,000 บาท ขึ้นไปให้เก็บรักษาโดยฝากกรมการศาสนา จังหวัด อำเภอ หรือธนาคาร หรือนิติบุคคลที่กรมการศาสนาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ให้ฝากในนามของวัด ดังนั้น การฝากเงินของวัดคือโจทก์ร่วมต้องฝากในนามของโจทก์ร่วมเท่านั้น หากมิได้ดำเนินการดังกล่าวโดยเจตนาก็เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 ได้ ส่วนการจัดการทรัพย์สินของวัดก็ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเป็นสำคัญ แต่การนำเงินค่าผาติกรรมซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วมอย่างหนึ่งไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์ร่วม โดยมิได้เบียดบังเป็นของตนเองหรือผู้อื่น การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เงินผิดไปจากมติมหาเถรสมาคม หรือเป็นการใช้เงินผิดระเบียบเท่านั้น
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 37
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2552 มาตรา 4
  • พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 4
  • พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 45
  • พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 40
  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2551 มาตรา 2
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 233
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ผู้พิพากษา

นันทชัย เพียรสนอง
อร่าม แย้มสอาด
สิงห์พล ละอองมณี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android