คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19229/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 7 เม.ย. 2559 15:20:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดนครพนม เขตเลือกตั้งที่ 4 จนถึงวันที่คณะกรรมการเลือกตั้งมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครพนม เขตเลือกตั้งที่ 4 ใหม่ ซึ่งมีผลทำให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยสิ้นสุดลงนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ยังมีผลบังคับใช้ แม้ต่อมาคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้ทำการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 แต่ความรับผิดของจำเลยได้เกิดขึ้นก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะถูกยกเลิก โจทก์สามารถอ้างลักษณะของการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนของจำเลยหรือตัวแทน (หัวคะแนน) ตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 อันเป็นมูลเหตุให้จำเลยต้องรับผิดคืนเงินต่างๆ แก่โจทก์ เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยเข้ารับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมิได้สิ้นผลบังคับไปพร้อมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเลือกตั้ง ได้วินิจฉัยว่า ควรเชื่อได้ว่าตัวแทน (หัวคะแนน) ของจำเลยให้ทรัพย์สินเพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่จำเลย กรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์ข้อห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ตนเองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 เมื่อคณะกรรมการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่และสมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงเช่นนี้ ถือได้ว่า จำเลยต้องออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 แม้คณะกรรมการเลือกตั้งจะวินิจฉัยต่อไปว่า แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้าน (จำเลย) เป็นผู้ก่อหรือสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำดังกล่าว คงมีผลเพียงว่าจำเลยไม่ถูกดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวเท่านั้น จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นที่ได้มาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งตาม พ.ร.ก.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมธิการ พ.ศ.2535 ได้ระบุถึงเงินประจำตำแหน่งเงินเพิ่ม เบี้ยประชุม การเดินทางโดยเครื่องบินไว้แล้ว เมื่อจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและขณะเดียวกันก็ได้รับตำแหน่งเป็นกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณากฎหมายและปัญหาต่างๆ นอกจากเงินประจำตำแหน่งตามปกติแล้ว จำเลยยังได้รับเบี้ยประชุมกับค่าโดยสารเครื่องบินอีกด้วย ถือว่าเป็นผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้คืนแก่โจทก์ทั้งสิ้น
สำหรับเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานของจำเลยนั้น จำเลยมีสิทธิขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ การแต่งตั้งดังกล่าวต้องเป็นไปตามประกาศสภาผู้แทนราษฎรเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการตั้งผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม 2537 และประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 ตามประกาศทั้งสองฉบับระบุให้ผู้ช่วยดำเนินงานและผู้เชี่ยวชาญได้รับค่าตอบแทนจากโจทก์เป็นรายเดือนในอัตราและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ดังนั้น การตั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานของจำเลยจึงเป็นบุคคลที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีคำสั่งตั้งขึ้น โดยกระทรวงการคลังอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าตอบแทนให้บุคคลดังกล่าวได้ การจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยดำเนินงานของจำเลยเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบุคคลดังกล่าว นอกจากนี้ในการรับเงินยังมีการหักภาษีเงินได้ไว้ก่อนแสดงว่าเงินค่าตอบแทนนี้เป็นเงินได้พึงประเมินของบุคคลนั้นที่ต้องนำมาคิดคำนวณการเสียภาษีประจำปีภาษีที่มีเงินได้ด้วย กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ตามมาตรา 97 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินส่วนนี้ให้โจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97
  • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44

ผู้พิพากษา

วิจิตร วิสุชาติ
พินิจ สายสอาด
สุรศักดิ์ วิมลรัตน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android