คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3645/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 27 พ.ย. 2558 11:47:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างทุกคนรวมทั้ง ม. และ ป. ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2551 ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 1 สิงหาคม 2551 โดยระบุเหตุเลิกจ้างว่าโจทก์ประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรงไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ เท่ากับโจทก์ประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุดังกล่าวเป็นเหตุเลิกจ้าง แม้ต่อมาโจทก์จะมีหนังสือยกเลิกการเลิกจ้างไปถึง ม. และ ป. ก่อนวันที่การเลิกจ้างมีผลก็ตาม แต่ในหนังสือดังกล่าวอ้างเหตุจำเป็นต้องจ้าง ม. และ ป. ต่อไปเพื่อดำเนินงานบางส่วนให้แล้วเสร็จ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์และลูกค้าของโจทก์ โดยกำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอนตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2551 อันมีลักษณะเป็นการจ้างทำงานต่อเพื่อให้งานที่มีอยู่ก่อนปิดกิจการเสร็จไปเท่านั้น เหตุผลในการเลิกจ้าง ม. และ ป. เมื่อครบระยะเวลาจ้างต่อจึงยังคงเป็นเหตุเดิมคือเหตุปิดกิจการนั่นเอง ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเพิ่งทราบภายหลังการประกาศเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดว่าเครื่องจักรของโจทก์หายไปและเชื่อว่า ม. กับ ป. มีส่วนในการลักเครื่องจักร เป็นการพ้นวิสัยที่จะแจ้งเหตุเลิกจ้างว่าจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง กรณีไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องแจ้งเหตุเลิกจ้างในขณะเลิกจ้างนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ยังอยู่ในช่วงเวลาก่อนวันที่มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 1 สิงหาคม 2551 และก่อนสิ้นระยะเวลาที่โจทก์จ้าง ม. กับ ป. ให้ทำงานต่อ จึงอยู่ในวิสัยที่โจทก์อาจแจ้งเหตุเลิกจ้างใหม่ได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้แจ้งเหตุเลิกจ้างใหม่ให้ ม. และ ป. ทราบในขณะเลิกจ้าง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะยกเหตุดังกล่าวมาอ้างในภายหลังเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ ม. และ ป. ได้เพราะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคท้าย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119

ผู้พิพากษา

วาสนา หงส์เจริญ
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
สุนันท์ ชัยชูสอน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android