คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10197/2557

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 30 มิ.ย. 2559 11:12:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อเสนอขายเครื่องจักรพิพาทแก่โจทก์ จัดหาแค็ตตาล็อกพร้อมราคา ประสานกับบริษัท ม. ผู้ผลิต พา พ. กรรมการโจทก์ ไปดูเครื่องจักรตัวอย่างที่ประเทศสเปน โดยพรรณนาคุณลักษณะและประสิทธิภาพของเครื่องจักรจนโจทก์ตกลงซื้อ ทั้งยังให้บริการหลังการขาย จัดส่งเงื่อนไขการชำระเงิน พร้อมทั้งขอให้โจทก์ดำเนินการจ่ายเงิน 3 งวด ตามเงื่อนไขของสัญญา ซึ่งโจทก์ก็ได้ปฏิบัติตาม แม้โจทก์จะไม่ได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขายเครื่องจักรพิพาทที่จำเลยที่ 2 จัดทำและส่งให้ แต่จำเลยทั้งสองได้ถือเอาประโยชน์จากสัญญาในฐานะผู้ขาย ส่วนโจทก์ก็ยอมรับที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ซื้อตามสัญญาแล้วเช่นกัน จากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองจะขอให้โจทก์ลงชื่อในสัญญาซื้อขายอีก พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยทั้งสองมิได้มุ่งให้การซื้อขายเครื่องจักรพิพาท จะต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือโดยให้โจทก์ลงชื่อในสัญญาอีก สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย หาได้มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ และเมื่อเครื่องจักรมีปัญหาทำงานไม่ได้ตามคำพรรณา จำเลยที่ 1 ก็จัดส่งวิศวกรเข้าไปแก้ไข ทั้งมีการทำหลักฐานไว้ว่า หลังจากวันติดตั้งไปจนวันครบกำหนดประกัน ถ้าเครื่องจักรมีปัญหา จำเลยที่ 1 จะรับผิดชอบแก้ไข แม้ขณะตกลงซื้อขายจำเลยทั้งสองจะไม่ใช่เจ้าของเครื่องจักรพิพาทก็ตาม สาระสำคัญอันเป็นวัตถุประสงค์ของสัญญาซื้อขายก็คือให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ ที่บริษัท ม. จัดส่งเครื่องจักรพิพาทแก่โจทก์ก็เป็นวิธีการจัดการให้โจทก์ได้รับเครื่องจักรที่จำเลยที่ 1 ตกลงขายแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการได้โดยตรง การที่บริษัท ม. ส่งวิศวกรมาแนะนำ แก้ไขเครื่องจักรพิพาทที่มีปัญหาขัดข้องก็เกิดจากการติดต่อประสานงานของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขาย จึงไม่มีผลทำให้บริษัท ม. ผู้ผลิตและส่งเครื่องจักรพิพาทกลายมาเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับโจทก์แต่อย่างใด
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366

ผู้พิพากษา

ศรีอัมพร ศาลิคุปต์
สุทธิโชค เทพไตรรัตน์
สวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android