คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21819/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 24 ก.ย. 2558 14:35:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น อันเป็นเอกสารมหาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้และถูกต้อง เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 ที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันจะต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร
จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์หากโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยสัญญาดังกล่าวมีข้อความในข้อ 1 ระบุว่า ตามที่จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันต่อบุคคลหรือนิติบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะออกหนังสือค้ำประกันฉบับเดียวหรือหลายฉบับในเวลานี้หรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้า... เป็นเงินรวมกันไม่เกิน 14,700,000 บาท ซึ่งถ้าหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ขอให้โจทก์ค้ำประกัน และโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้ ...จำเลยที่ 5 ตกลงยินยอมชดใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ได้ชดใช้แทนไปนั้น คำว่า ในเวลานี้ในสัญญาดังกล่าว ย่อมหมายถึง การที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกัน เป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่แล้วในขณะทำสัญญา ดังนี้ สัญญาที่จำเลยที่ 5 ทำไว้กับโจทก์ดังกล่าวจึงครอบคลุมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกันด้วย มิใช่จำเลยที่ 5 ยอมรับผิดเฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นนับแต่วันทำสัญญาดังกล่าวเท่านั้น แม้คำขอให้ออกหนังสือรับรองและค้ำประกันได้ระบุหลักประกันอื่นโดยมิได้ระบุถึงจำเลยที่ 5 ไว้ก็มิได้ทำให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย
การที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวโดยมีข้อความระบุไว้ในข้อ 8 ว่า เพื่อประกันการชำระหนี้ตามสัญญานี้ทั้งหมด จำเลยที่ 5 ตกลงจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 447 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับโจทก์ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 5 ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 447 ไว้กับโจทก์ โดยระบุในสัญญาจำนองว่า เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 5 และหรือจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับผู้รับจำนอง ในวงเงิน 11,800,000 บาท ก็เป็นการที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญาจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองในต้นเงินไม่เกิน 14,700,000 บาท เท่านั้น มิใช่ต้องรับผิดในวงเงินตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองรวมกันแต่อย่างใด
สำหรับความรับผิดตามสัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้น เมื่อสัญญาจำนองฉบับนี้ระบุว่า จำนองเป็นประกันหนี้ที่ผู้จำนองและหรือจำเลยที่ 1 มีอยู่กับผู้รับจำนองทุกลักษณะในเวลานี้หรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้า ทั้งนี้ให้รวมถึงหนี้ที่จะก่อให้เกิดขึ้นใหม่ทุกลักษณะเป็นจำนวน 14,000,000 บาท ดังนั้น คำว่า ประกันหนี้ในเวลานี้ จึงมีความหมายว่า เป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารโจทก์อยู่แล้วในขณะทำสัญญา ดังนั้นสัญญาจำนองหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนี้จึงครอบคลุมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาจำนอง จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดในหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ก่อนทำสัญญาจำนองด้วย และจำเลยที่ 5 คงต้องรับผิดตามสัญญาจำนองที่จำกัดวงเงินไม่เกิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์เท่านั้น เพราะจำเลยที่ 5 จำนองที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 39209 โดยจำกัดวงเงินไม่เกิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์เท่านั้น แม้จะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า การกำหนดต้นเงินตามสัญญาจำนองไม่เป็นการตัดสิทธิผู้รับจำนองที่จะบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินตามสัญญาจำนองไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นั้นเป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอน หรือไม่มีจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกัน จึงฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนอง จึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เฉพาะกรณีมีดอกเบี้ยหรือหนี้อุปกรณ์รวมกันเกินวงเงินจำนองเท่านั้น จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้จำนองประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวงเงิน 14,000,000 บาท จึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจำนองดังกล่าว ในวงเงิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นเอกสารที่จำเลยทั้งห้าทำขึ้นให้ไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งห้าแต่ฝ่ายเดียวต่างลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เบิกเงินบัญชีและผู้ค้ำประกันเท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมิใช่หนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 118
การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลผู้ซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อการแสดงเจตนาส่งไปถึงภูมิลำเนาของจำเลยที่ 5 แล้ว แม้จะไม่มีผู้รับ ก็ถือว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองชอบแล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 860
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 708
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 103
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 104
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 118

ผู้พิพากษา

วาสนา หงส์เจริญ
วีระวัฒน์ ปวราจารย์
ปิยกุล บุญเพิ่ม

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android