คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11437/2556

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 26 พ.ค. 2558 12:43:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จะใช้อายุความเรื่องละเมิดหรือใช้อายุความทั่วไปนั้น ต้องพิจารณาจากการบรรยายในคำฟ้องของโจทก์เพื่อให้เห็นเจตนาว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องโดยอ้างอิงหรืออาศัยสิทธิตามกฎหมายใดเป็นหลัก ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ว่าจะเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิดโดยตรง หรือฟ้องโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มีหลักสำคัญอยู่ที่การทำให้เกิดความเสียหายเช่นเดียวกัน กรณีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิด มักจะต้องบรรยายในคำฟ้องให้เห็นว่า จำเลยจงใจกระทำการใด ๆ หรือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำในคำฟ้องคดีนี้แล้วไม่ปรากฏแจ้งชัดว่าโจทก์ได้ใช้ถ้อยคำที่จะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาฟ้องโดยอาศัยสิทธิในมูลละเมิดโดยตรงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม คำฟ้องของโจทก์บรรยายโดยกล่าวในตอนต้นให้เห็นว่าโจทก์มีอำนาจหน้าที่ในการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง ฟื้นฟู ดูแลรักษา ส่งเสริมและทำนุบำรุงทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในเขตที่รับผิดชอบมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับรวมทั้ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ด้วย ต่อมาจึงบรรยายโดยใช้ถ้อยคำว่าการกระทำของจำเลยโดยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ ก่อสร้าง แผ้วถางป่า โดยตัดฟัน โค่น เลื่อย ชักลากไม้ในป่า อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ดูแลอยู่ ทั้งในตอนท้ายโจทก์ก็บรรยายในคำฟ้องแจ้งชัดว่า การกระทำของจำเลยนั้นทำให้เกิดความเสียหาย โดยโจทก์ขอเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย โดยกำหนดจากหลักเกณฑ์ความเสียหายในทางแพ่งตามมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งบทบัญญัติในมาตรา 97 ดังกล่าวระบุในทำนองว่า ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้เสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป การบรรยายในคำฟ้องดังกล่าวจึงไม่ใช่การบรรยายฟ้องในเรื่องละเมิดโดยตรงเท่านั้น แต่ยังเป็นการบรรยายในคำฟ้องให้เห็นว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ด้วย ซึ่งการเรียกร้องค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 นั้น ไม่ได้มีบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คือ 10 ปี เมื่อจำเลยกระทำความผิดตั้งแต่เดือนมกราคม 2542 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 จึงยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448

ผู้พิพากษา

พันธุ์เลิศ บุญเลี้ยง
พันวะสา บัวทอง
นิพนธ์ ใจสำราญ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android