คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10424/2556

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 12 ธ.ค. 2557 11:07:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 66 ฉบับ ดำเนินการโดยผู้ครอบครองที่ดินมิได้ยื่นคำขอพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์จริง ไม่ทราบตำแหน่งที่ดิน ไม่มีการรังวัดสอบสวนการทำประโยชน์ระบุตำแหน่งที่ดินในระวางแผนที่ ออกทับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยจำเลยร่วมทำเอกสารปลอมและเอกสารอันเป็นเท็จเสนอต่อนายอำเภอ เพื่อขออนุมัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะราย ไม่มีการจัดทำตามขั้นตอนรายละเอียดดังที่ระบุในเอกสารประกอบเรื่องราวขึ้นจริง เลขต่อในทะเบียนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 8) บางส่วนถูกฉีกขาดหายไป ไม่พบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับสำนักงานที่ดินทั้ง 66 ฉบับ ที่ถูกเพิกถอน โดยจำเลยร่วมดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 66 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการสามารถใช้เป็นสินทรัพย์เพื่อจำหน่าย จ่าย โอน รวมทั้งใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อในการประกอบธุรกิจ บ่งบอกว่าการกระทำทั้งปวงมิได้มุ่งหมายให้ได้ที่ดินเพื่อใช้เป็นประโยชน์ตามสภาพของทรัพย์สิน แต่มุ่งหมายเพียงเพื่อให้ได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เพื่อเป็นสินทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเท่านั้น ทั้งโจทก์เคยไปดูที่ดินพบว่ามีการทำนาปลูกต้นยูคาลิปตัสและมันสำปะหลัง ไม่เคยถามผู้ที่ทำนาเหล่านั้นว่าขายที่ดินหรือไม่ ทราบเพียงว่าเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงตกลงซื้อภายหลังซื้อที่ดินทั้งหมดประมาณ 18,000 ไร่ จึงวางแผนพัฒนาที่ดินเสนอต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เพื่อให้ได้เงินไปขยายธุรกิจขนส่งทางทะเลโดยไม่เคยทำประโยชน์ตามแผนพัฒนาที่ดินที่เสนอต่อผู้ให้กู้ สัญญาซื้อขายที่อ้างจำนวนมากถึง 92 ฉบับ มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับเดียวที่ตรงกับที่ดิน 66 ฉบับ ที่ถูกเพิกถอน วันที่ตามสัญญาซื้อขายแตกต่างกับวันที่ซึ่งลงในสารบัญรายการจดทะเบียน จึงเป็นพิรุธว่ามีการจดทะเบียนซื้อขายโดยชอบหรือไม่ เชื่อว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบ ไม่อาจอ้างสิทธิได้ตามฟ้อง เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็ชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้ร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิด กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 4 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ มาตรา 247
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245

ผู้พิพากษา

พินิจ สายสอาด
นิยุต สุภัทรพาหิรผล
วิรุฬห์ แสงเทียน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android