คำพิพากษาย่อสั้น
การที่จำเลยจงใจและอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ที่โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ตามคำฟ้อง ทั้ง ๆ ที่จำเลยทราบดีว่าโจทก์มิได้โอนขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ดังกล่าวแก่จำเลยนั้น แม้จะมิใช่การทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งเพลงอันเป็นงานดนตรีกรรมที่โจทก์มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์อันจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 24 ก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยจงใจทำต่อโจทก์โดยไม่มีสิทธิและผิดต่อกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แต่มิได้ให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามคำฟ้องขาดอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 หรือไม่ จำเลยย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการละเมิดดังกล่าวแก่โจทก์
เมื่อลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งสิบห้าเพลงดังกล่าวซึ่งเป็นเพลงส่วนหนึ่งของเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องและยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์มิได้โอนลิขสิทธิ์ให้จำเลย การที่จำเลยผลิตและจำหน่ายซีดีเพลงดังกล่าวเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) และการที่จำเลยโดยรู้อยู่แล้วได้นำซีดีซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงเพลงที่จำเลยได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกขายแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อหากำไรและเพื่อการค้ายังเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) อีกด้วย เมื่อโจทก์พบการกระทำของจำเลยอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2547 และโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 จึงเป็นการฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 63
การชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามสมควร โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหาย รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 64 การที่จำเลยนำซีดีซึ่งเป็นสิ่งบันทึกเสียงเพลงที่จำเลยได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกขายแก่ประชาชนทั่วไปเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากกำไรที่ได้มาจากการขายซีดีดังกล่าวโดยไม่ต้องแบ่งผลกำไรนั้นให้แก่โจทก์ และโจทก์ย่อมสูญเสียประโยชน์ในการแสวงหากำไรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ด้วย แต่ผลกำไรที่จะเป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายก็ต้องหักต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายออกเสียก่อนด้วยเช่นกัน ทั้งยังต้องคำนึงถึงการที่ซีดีแต่ละชุดมิได้ประกอบด้วยเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งหมด จึงต้องเทียบตามสัดส่วนของเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ในแต่ละชุดด้วย เมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนเพลงทั้งหมด 6 ชุด จำนวนชุดละ 14 เพลง รวมจำนวน 84 เพลง แล้ว จะเป็นสัดส่วนเพลงของโจทก์ประมาณร้อยละ 10 ของเพลงทั้งหมด อย่างไรก็ดี เมื่อเพลงของโจทก์ทั้งเก้าเพลงดังกล่าวเป็นเพลงดังในอัลบั้มเพลงจำนวน 4 ชุด ในจำนวน 6 ชุด ดังกล่าวซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น เพลงทั้งเก้าเพลงนี้ย่อมมีความสำคัญกว่าเพลงอื่น จึงเห็นควรกำหนดความสำคัญของเพลงโดยการเทียบสัดส่วนกับเพลงอื่น ๆ ในจำนวน 6 ชุด นั้นเป็นร้อยละ 20 ของเพลงทั้งหมด เพื่อนำไปหาค่าเฉลี่ยผลกำไรที่โจทก์สูญเสียไปหรือที่โจทก์ควรได้รับสำหรับการกำหนดค่าเสียหาย แม้โจทก์มิได้นำสืบถึงผลกำไรที่หักต้นทุนเพื่อให้เห็นถึงผลกำไรที่แท้จริงก็ตาม แต่ได้ความว่าโจทก์ขายแผ่นซีดีที่มีเพลงอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์แผ่นละ 100 บาทเศษ หากขายได้ 50,000 แผ่น จะได้กำไรแผ่นละ 30 บาทเศษ อัตราผลกำไรดังกล่าวเป็นอัตรากำไรที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจ จึงเห็นสมควรนำมาเทียบเคียงและกำหนดค่าประมาณในการคำนวณหาผลกำไร โดยกำหนดผลกำไรให้เป็นอัตราร้อยละ 30 ของยอดขายจำนวน 36,000,000 บาท ตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยมิได้โต้แย้ง เมื่อคำนวณแล้วได้ผลกำไรจากการขายเพลงทั้งหมดในซีดีทั้งหกชุดเป็นเงินจำนวน 10,800,000 บาท เมื่อนำสัดส่วนเพลงดังของโจทก์ซึ่งเท่ากับร้อยละ 20 ของเพลงทั้งหมดมาคำนวณจากผลกำไรดังกล่าวแล้ว จะได้ค่าเสียหายที่โจทก์สูญเสียไปหรือที่โจทก์ควรได้รับจากกำไรเป็นเงิน 2,160,000 บาท จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้จำนวน 2,160,000 บาท
การที่จำเลยแอบอ้างว่าโจทก์ได้ขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเพลงจำนวนดังกล่าว จำเลยนำเพลงนั้นไปอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์จำนวน 15 ฉบับ และที่จำเลยอ้างต่อบริษัทที่จัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ว่าเพลงที่จัดเก็บลิขสิทธิ์นั้นเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลย กับการที่จำเลยได้ทำซ้ำและดัดแปลงงานเพลงจำนวน 15 เพลง อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้วผลิตเป็นซีดีสิ่งบันทึกเสียงเพลงออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์นั้นมิใช่การละเมิดสิทธิในธรรมสิทธิ (Moral right) ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์โดยการบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือทำโดยประการอื่นในลักษณะเดียวกันจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานเพลงดังกล่าวเพราะจำเลยมิได้ดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อร้องหรือทำนองเพลงจำนวน 142 เพลง ตามคำฟ้องให้ผิดแผกแตกต่างไปจากเนื้อร้องหรือทำนองเพลงที่โจทก์ได้แต่งขึ้นในลักษณะที่เป็นถ้อยคำหยาบคาย ลามก หรือให้ผิดเพี้ยนไปจากที่โจทก์ประสงค์จะสื่อสารไปถึงผู้ฟังเพลงแต่อย่างใด ทั้งการกระทำดังกล่าวก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานดนตรีกรรมในอันที่จะแสดงว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าวโดยมิชอบ เพราะจำเลยยังคงระบุในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงจำนวน 15 ฉบับ ว่าโจทก์เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนองเพลงดังกล่าว มิได้บิดเบือนว่าจำเลยเป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงนั้นขึ้นแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยดังกล่าวทั้งหมดจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิในธรรมสิทธิ (Moral right) ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์งานดนตรีกรรมจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 15 หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในส่วนนี้ได้