คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14031/2555

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 10 ก.พ. 2558 15:45:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
สัญญาประกันการทำงานและการจดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อประกันการทำงานของโจทก์ทั้งสอง (ลูกจ้าง) เป็นนิติกรรมระหว่างจำเลย (นายจ้าง) กับ ธ. และระหว่างจำเลยกับ จ. แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ทั้งสองก็มิได้ถูกโต้แย้งเกี่ยวกับหลักประกันดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยปลดจำนองที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันการทำงานของโจทก์ทั้งสอง
ตามระเบียบว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง พ.ศ.2545 ของจำเลย ในกรณีลูกจ้างออกจากตำแหน่งเพราะตายจำเลยก็จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ทายาทของลูกจ้าง อีกทั้งลูกจ้างที่มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จต้องทำงานด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นเวลาติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินบำเหน็จจึงมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างจากค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ถือว่าเงินบำเหน็จเป็นเงินประเภทอื่น มิใช่ค่าชดเชย จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จแยกต่างหากจากค่าชดเชย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118

ผู้พิพากษา

อนันต์ ชุมวิสูตร
ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์
นิพนธ์ ใจสำราญ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android