คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12705/2553

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 13 ธ.ค. 2555 10:49:26

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความเกี่ยวกับคำร้องของจำเลยทั้งหกที่ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ คู่ความแถลงรับว่าได้มีการทำสัญญาพิพาท และโจทก์รับด้วยว่าฝ่ายจำเลยได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว ศาลชั้นต้นได้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา อันถือได้ว่าเป็นการไต่สวนตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 แล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีได้
ข้อตกลงระงับข้อพิพาทในสัญญาพิพาทระบุว่า ถ้ามีข้อพิพาทไม่ว่าชนิดใดก็ตามเกิดขึ้นระหว่างคู่กรณีที่เกี่ยวกับหรือสืบเนื่องจากสัญญาหรือทำงานตามสัญญา ไม่ว่าระหว่างการทำงานหรือภายหลังจากที่ทำงานแล้วเสร็จและไม่ว่าก่อนหรือหลังการบอกเลิกสัญญาหรือยุติสัญญาด้วยวิธีอื่นซึ่งรวมถึงข้อพกพาทอื่นๆ ข้อพิพาทนั้นจะต้องเสนอไปยังวิศวกรที่ปรึกษาโดยคำตัดสินดังกล่าวสามารถถูกทบทวนโดยการยุติปัญหาด้วยการประนีประนอมหรือโดยอนุญาโตตุลาการ เมื่อคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าสัญญาพิพาทเป็นโมฆะเนื่องจากโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในตัวคู่สัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมและต้องการให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยที่ได้ไปจากโจทก์คืน จึงเป็นกรณีที่มีข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีเกี่ยวข้องกับสัญญาพิพาทดังกล่าวซึ่งต้องมีการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 24 บัญญัติว่า คณะอนุญาโตตุลการมีอำนาจวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลักเป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก เมื่อโจทก์อ้างว่าสัญญาพิพาทตกเป็นโมฆะและส่งผลต่อความเป็นโมฆะถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ใช้ในอนุญาโตตุลาการจึงอยู่ในอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่จะทำการวินิจฉัย คู่สัญญาจึงต้องไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14

ผู้พิพากษา

นวลน้อย ผลทวี
พันวะสา บัวทอง
พิศล พิรุณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android