คำพิพากษาย่อสั้น
ความผิดข้อหาก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นนับแต่วันทำการก่อสร้างอาคารต่อเนื่องกันไปจนถึงวันปลูกสร้างอาคารเสร็จ อายุความฟ้องร้องต้องนับถัดจากวันที่ก่อสร้างดัดแปลงเสร็จลง มิใช่เป็นความผิดต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาที่ผู้กระทำยังไม่ได้รื้ออาคาร ส่วนเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้รื้อถอนหรือร้องขอต่อศาลให้บังคับให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนได้เสมอตราบเท่าที่อาคารที่ฝ่าฝืนยังคงอยู่ เป็นเรื่องความรับผิดในทางแพ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดข้อหาก่อสร้างดัดแปลงอาคารเพื่อใช้เป็นอาคารพาณิชยกรรมขายอาหารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21 ต้องระวางโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง จำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และถือเป็นการกระทำอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมตามมาตรา 70 ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น จึงระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี อายุความฟ้องร้องมีกำหนด 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4) เมื่อการก่อสร้างดัดแปลงอาคารได้เสร็จลงก่อนวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 จึงเกินกว่า 5 ปี ล่วงเลยกำหนดเวลาฟ้องร้อง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
การกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 66 ทวิ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 ก่อนกล่าวคือกรณีแรกอาคารที่จำเลยก่อสร้างนั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 กรณีที่สองอาคารที่จำเลยก่อสร้างไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น ข้อเท็จจริงที่ว่าอาคารก่อสร้างดัดแปลงโดยผิดกฎหมายสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ จึงเป็นสาระสำคัญที่ต้องบรรยายมาในฟ้อง เพราะเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้ หาใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)