คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2554

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 18 พ.ค. 2555 13:51:10

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยไปครั้งหนึ่งแล้วว่า ลักษณะการทำงานของโจทก์รวม 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหาข้อนี้ย่อมเป็นอันยุติ จำเลยจะรื้อฟื้นในประเด็นข้อกฎหมายนี้ที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้มาให้วินิจฉัยอีกไม่ได้ อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบด้วยมาตรา 246 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาไปตามนั้น ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวนี้นำมาอนุโลมใช้กับคดีแรงงานด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อศาลแรงงานพิจารณาแล้วว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบพยานก่อนมีคำพิพากษานั้นเพียงพอให้ฟังข้อเท้จจริงเพิ่มเติมเป็นยุติและพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงวินิจฉัยคดีโดยไม่อนุญาตให้จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติมนั้น ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจวิเคราะห์พยานหลักฐานในการรับฟังข้อเท็จจริงคดีนี้แล้ว ทั้งไม่มีกรณีอันสมควรที่ศาลแรงงานกลางจะสั่งอนุญาตให้จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติมตามข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ข้อ 10 ด้วย คำสั่งและคำพิพากษาคดีนี้ใหม่ของศาลแรงงานกลางจึงชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 243 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 และมาตรา 31 แล้ว
มีเอกสารหลักฐานแน่ชัดว่า จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาในวันปกติและวันหยุดสำหรับช่วงระยะเวลาในวันและเวลาใดแน่นอนส่วนโจทก์ทั้ง 29 รคน จะเข้าเวรทำงานล่วงเวลาตามคำสั่งครบถ้วนหรือไม่ ก็มีหลักฐานเอกสารการลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานแน่ชัดอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ดังนั้น ในบางวันบางเดือนโจทก์บางคนอาจจะต้องเข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยรวมเป็นเวลา 24 ชั่วโมงได้ตามที่ปรากฏจริง และเมื่อโจทก์ทั้ง 29 คน ได้เข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยแล้ว การเข้าเวรทำงานในลักษณะดังกล่าวมานี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้ง 29 คน เต็มตามระยะเวลาที่เข้าเวรทำงานล่วงเวลา จำเลยจะจ่ายค่าล่วงเวลาโดยคำนวณเฉพาะเวลาที่โจทก์ได้ปฏิบัติงานจริงเท่านั้น โดยไม่ยอมจ่ายค่าล่วงเวลาเต็มตามระยะเวลาที่โจทก์ทั้ง 29 คน ต้องอยู่เวรรอปฏิบัติงานย่อมไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ปรากฏตามคำสั่งคณะกรรมการท่าเรือแห่งประเทศไทยว่า เป็นการออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 29 (4) ของ พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ส่วนคำสั่งคณะกรรมการท่าเรือแห่งประเทศไทยและคำสั่งประธานคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นคำสั่งเปลี่ยนแปลงอัตราค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นจากคำสั่งฉบับแรก ดังนั้น คำสั่งทั้งสามฉบับดังกล่าวนี้จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คำสั่งทั้งสามฉบับนี้เป็นคำสั่งกำหนดอัตราค่าล่วงเวลาที่ใช้บังคับเฉพาะกับพนักงานของจำเลยเท่านั้น ส่วนระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 นั้น ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้บังคับกับทุกรัฐวิสาหกิจรวมทั้งจำเลยด้วย คำสั่งทั้งสามฉบับของจำเลยดังกล่าวข้างต้นจึงต้องอยู่ในบังคับของระเบียนคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งระเบียบ พ.ศ.2534 ได้กำหนดถึงการจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานที่ทำงานนอกเวลาทำงานปกติตามข้อ 25, 26, และ 30 แต่ไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานที่ทำงานเข้าลักษณะงานที่ระบุไว้ในข้อที่ 28 ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า ลักษณะการทำงานของโจทก์รวม 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 ผ2) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้ง 29 คน ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องเงินค่ารเช่าทั้งสามฉบับดังกล่าวของจำเลยซึ่งเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าอย่างหนึ่งด้วยจึงเป็นทรัพย์สินของจำเลย และตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 14 บัญญัติว่า "ทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี" สิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าทั้งสามฉบับของจำเลยจึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น และแม้ว่าสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าทั้งสามฉบับนี้จะยังไม่เป็นรายได้ของรัฐตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 39 แต่ก็เป็นรายได้อันเป็นทรัพย์สินของจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าทั้งสามฉบับของจำเลยตามเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534
  • พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 14
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104

ผู้พิพากษา

นิยุต สุภัทรพาหิรผล
ดิเรก อิงคนินันท์
ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android