คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6863/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 24 ก.ค. 2555 12:26:44

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดในข้อ 1 ขอให้จำเลยชำระเงินเป็นจำนวนเท่ากับผลต่างของดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ที่จำเลยจะต้องจ่ายกับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด หาได้ ซึ่งคิดคำนวณเป็นรายเดือนจากยอดเงินยกมาของโจทก์แต่ละคน ณ วันที่ 1 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2549 และให้จำเลยชำระเงินซึ่งคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนงวดต่อไปในอัตราร้อยละ 13 นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนที่จำเลยไม่ได้ชำระ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2549 และวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และเนื่องจากตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ขอให้จำเลยปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายดอกเบี้ยเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสิบเจ็ดขอให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวตลอดไป ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด หาได้ตลอดไปจนกว่าโจทก์ทั้งสิบเจ็ดจะพ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยนั้น จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
จำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยขึ้นเมื่อประมาณปี 2511 เงินกองทุนฝากไว้กับธนาคารจำเลย โดยจำเลยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเข้ากองทุนในอัตราคงที่ร้อยละ 13 ต่อปี ต่อมามีการจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อ. จำกัด เป็นนิติบุคคลและมอบเงินกองทุนให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด เป็นผู้จัดการในปี 2535 หากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด นำเงินกองทุนไปลงทุนหาผลประโยชน์ได้ไม่ครบในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี จำเลยยอมรับภาระจ่ายส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด หาได้เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยการที่จำเลยจ่ายเงินดอกเบี้ยเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคาร อ. จำกัด นั้นสืบเนื่องมาจากจำเลยเคยจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารจำเลยก่อนที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจะจดทะเบียน การที่ต่อมากองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ก็หาทำให้เสียสิทธิผู้ที่เป็นสมาชิกของกองทุนอยู่ก่อนที่จะจดทะเบียนไม่ โจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นสมาชิกของกองทุนดังกล่าวอยู่ก่อนที่จะจดทะเบียนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
จำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยขึ้นเมื่อประมาณปี 2511 จำเลยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ถึงแม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยตกลงจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี สมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม แต่ตามเอกสารมีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี โดยจ่ายให้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งข้อความดังกล่าวสืบเนื่องจากผู้แทนของจำเลยแถลงประกอบเหตุผลที่ไม่สามารถจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานเป็นจำนวน 4 เท่าของค่าจ้างตามข้อเรียกร้องของสหภาพของจำเลยได้ ดังนั้น การจ่ายดอกเบี้ยสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 31
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

ผู้พิพากษา

สุนทร ทรงฤกษ์
ดิเรก อิงคนินันท์
อนันต์ ชุมวิสูตร

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android