คำพิพากษาย่อสั้น
สัญญาเช่าเป็นสัญญาแบบพิมพ์ที่โจทก์กำหนดขึ้นล่วงหน้าและโจทก์นำมาใช้กับผู้เช่าทุกคน อันเป็นการนำมาใช้ในการที่โจทก์นำตึกแถวไปให้บุคคลทั่วไปเช่า สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 3
ข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปอาจเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 4 ได้ หากปรากฏว่าข้อตกลงนั้นมีผลทำให้ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร โดยคู่สัญญาไม่จำต้องเป็นสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพแต่อย่างใด
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 4 (3) ที่บัญญัติว่าข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของข้อตกลงที่ถือว่าทำให้ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ถึงขนาดว่าหากเป็นไปตามลักษณะนี้ถือว่าเป็นข้อตกลงที่ได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะมีผลทำให้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
สัญญาเช่าข้อ 8 ระบุว่า ถ้าผู้ให้เช่าต้องการสถานที่เช่าคืนในระหว่างที่ยังไม่สิ้นสัญญาด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ให้เช่าจะบอกผู้เช่าให้ทราบล่วงหน้าก่อนไม่ต่ำกว่า 30 วัน และผู้เช่ายอมออกจากสถานที่เช่านั้นภายในกำหนดของผู้ให้เช่า โดยยอมรับว่าสัญญาเช่าฉบับนี้สิ้นสุดลงในวันที่ผู้ให้เช่ากำหนดนั้นแทนวันสิ้นสุดสัญญาเช่าในข้อ 1 และจะไม่ขอเรียกร้องค่าเสียหายหรือชดใช้ใดๆ ทั้งสิ้นจากผู้ให้เช่า แต่ทางนำสืบของจำเลยไม่ปราฏว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบฝ่ายผู้เช่าเกินสมควรอย่างไรเพราะเหตุใด อันจะเป็นประเด็นให้ศาลวินิจฉัยถึง ลำพังเพียงการตกลงตามข้อ 8 ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าได้เปรียบฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าเกินสมควร จึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ ทั้งไม่มีลักษณะเป็นข้อความอันบังคับไว้ให้สัญญาเช่าเป็นผลหรือสิ้นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคตตาม ป.พ.พ. มาตรา 182 แต่เป็นเรื่องของการตกลงให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่จะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก่อนที่อายุสัญญาตามที่ตกลงกันไว้จะสิ้นสุดลง โดยคู่สัญญาฝ่ายนั้นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงไม่ใช่เงื่อนไขของสัญญาเช่าแต่อย่างใด กรณีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ฝ่าฝืนกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาเลิกกันแล้วคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ชำระค่าทำสัญญาเช่าหรือเงินบำรุงวัดจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ โจทก์จึงต้องคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) แต่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังกล่าวจะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้จากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เมื่อไม่ปรากฏจากคำฟ้องหรือคำให้การว่าจำเลยได้ชำระค่าทำสัญญาเช่าหรือเงินบำรุงวัดจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ ก่อนมีการทำสัญญาเพื่อเป็นการตอบแทนการที่โจทก์ทำสัญญาเช่ากับจำเลย ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากพยานหลักฐานนอกเรื่องนอกประเด็น ไม่เกี่ยวกับที่คู่ความมีหน้าที่นำสืบ ศาลย่อมไม่อาจรับฟังมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาต้องห้ามตามมาตรา 87