คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 248/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 28 ก.ค. 2554 10:08:22

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่จำเลยที่ 1 พูดสำทับกับผู้เสียหายว่า "ถ้ามึงไม่ให้เดี๋ยวมันก็แทงมึงหรอกกูช่วยมึงไม่ได้" หลังจากจำเลยที่ 1 ขอยืมเงินและผู้เสียหายปฏิเสธ แล้วจำเลยที่ 1 หันไปคุยกับจำเลยที่ 2 ว่า "เฮ้ย แม่งไม่ให้เว้ย" จำเลยที่ 2 จึงลุกขึ้นยืนพร้อมกับล้วงมีดออกมาจากด้านหลังแล้วเดินเข้ามาใกล้ผู้เสียหาย และจำเลยที่ 1 ได้ผลักจำเลยที่ 2 พร้อมกับพูดว่า "มึงไม่ต้องแทง" ตามที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีเบิกความ ซึ่งศาลชั้นต้นได้ใช้วิธีการพิจารณาคดีสำหรับพยานที่เป็นเด็กเป็นการเฉพาะต่างจากพยานบุคคลทั่วไป โดยอยู่ในกำหนดหลักการว่าในคดีที่มีพยานเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ศาลต้องจัดให้พยานเด็กอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมโดยการถามนั้นศาลจะเป็นผู้ถามพยานเอง หรือถามผ่านทางนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือจะให้คู่ความถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ผลของกฎหมายดังกล่าวย่อมทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถได้ข้อเท็จจริงจากพยานเด็กมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเมื่อมีวิธีการการถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กและความเชี่ยวชาญในการซักถามเด็ก เชื่อว่าจะเป็นผลให้พยานเด็กสามารถให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องสมบูรณ์ เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันข่มขู่ผู้เสียหายว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวจึงได้มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ผู้พิพากษา

เฉลิมชัย ตันตยานนท์
มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด
วีระวัฒน์ ปวราจารย์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android