คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13/2553

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 11 ก.พ. 2557 14:10:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่จำเลยนำเช็คที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วมาแก้ไขวันที่และลงชื่อกำกับวันที่แก้ไขไว้ แม้จะเจตนาให้มีผลผูกพันเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่จำเลยทำสัญญากับผู้เสียหาย และเป็นการแก้ไขวันสั่งจ่ายซึ่งเป็นข้อสำคัญในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 ก็ตาม แต่การลงวันที่ใหม่และลงนามกำกับการแก้ไขโดยจำนวนเงินและลายมือชื่ออันเป็นรายการที่มีอยู่ในเช็คเดิมจึงเป็นเพียงการแก้วันที่ในเช็คเพียงอย่างเดียว เช็คยังคงเป็นเช็คฉบับเดิม ไม่เป็นการออกเช็คฉบับใหม่แต่อย่างใด เมื่อเช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินมาครั้งหนึ่งแล้ว ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันนั้นแล้ว การที่ผู้เสียหมายนำเช็คไปเรียกเก็บเงินอีกและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นครั้งที่สองจึงหาได้เกิดความผิดขึ้นใหม่อีกไม่ เพราะเป็นการกระทำอันเดียวกันนั้นเอง การกระทำอันเดียวกันจะเป็นความผิดสองครั้งหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 215
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
  • พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

ผู้พิพากษา

สิงห์พล ละอองมณี
ธานิศ เกศวพิทักษ์
บุญส่ง โพธิ์พุทธชัย

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android