คำพิพากษาย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 1497 บัญญัติว่า "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้" เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องกล่าวอ้างในคดีนี้ว่า การสมรสระหว่างตนเองกับ ช.เป็นการสมรสซ้อน ผลคือทำให้การสมรสเป็นโมฆะตามบทกฎหมายดังกล่าว การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคแรก ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยร่วมที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ไม่ใช่สินสมรส
โจทก์ยื่นคำคัดค้านแต่เพียงว่า ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสที่ตกทอดเป็นมรดกของ ช. ไม่ได้คัดค้านว่าเป็นทรัพย์สินที่ ช.ซื้อหรือร่วมกับจำเลยร่วมที่ 1 ซื้อหามา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์สินของจำเลยร่วมที่ 1 แต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ช. ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์สินที่ ช. ซื้อหามาด้วยเงินของตนเอง แล้วใส่ชื่อของบุตรสาวไว้ ต่อมาจึงโอนใส่ชื่อของจำเลยร่วมที่ 1 เป็นข้อที่โจทก์ไม่ได้คัดค้านและไม่ได้นำสืบต่อสู้ไว้ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ขณะโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาในคดี จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำให้การว่า การสมรสระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับ ช. เป็นโมฆะเพราะเป็นการสมรสซ้อน โจทก์จึงทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวจากคำให้การของจำเลยร่วมที่ 1 แล้ว แต่ยังยินยอมที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยร่วมที่ 1 โดยในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า "ในส่วนของจำเลยร่วมทั้งสามขอรับผิดเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของช." ดังนั้น หาก ช. ไม่มีทรัพย์มรดกตกทอดแก่จำเลยร่วมทั้งสาม โจทก์ก็จะเรียกร้องให้จำเลยร่วมทั้งสามรับผิดไม่ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 1 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยโจทก์ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสมรสซ้อนอยู่แล้วจึงไม่เป็นการฉ้อฉลโจทก์