คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8938/2552

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 23 ส.ค. 2554 15:14:24

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 13 ถึงที่ 24 และที่ 36 อุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 10 ที่ 13 ถึงที่ 24 และที่ 36 ครบถ้วนแล้วโดยพิจารณาจากเอกสาร ซึ่งมีรอยแก้ไขจนไม่สามารถอ่านเข้าใจได้ และไม่พิจารณาว่าลายมือลูกจ้างในเอกสารดังกล่าวมีการลงลายมือชื่อไว้ตั้งแต่เมื่อใดและลงลายมือชื่อรับเงินประเภทใดเอกสารดังกล่าวมีพิรุธหลายประการ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่มีเหตุผลและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี และที่โจทก์ทั้งห้าสิบห้าอุทธรณ์ว่า จำเลยประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลาร่วม 30 ปี ไม่เคยผิดนัดจ่ายค่าจ้าง มีการจ่ายเงินโบนัสทุกปีและปรับค่าจ้างประจำปีสม่ำเสมอมาโดยตลอด การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่าจำเลยประกอบกิจการขาดทุน การเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่มีเหตุผลและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดีล้วนเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
จำเลยกับสหภาพแรงงาน ซ. ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันใหม่จากเดิมที่เคยจ่ายค่าครองชีพรวมกับค่าจ้างมาเป็นแยกค่าครองชีพออกจากค่าจ้าง แต่หลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวแล้วจำเลยได้จ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างรายวันและรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่ การที่จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าสิบห้ามีจำนวนแน่นอนและจ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือนโดยไม่คำนึงว่าลูกจ้างจะหยุดงานหรือไม่ ย่อมถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของลูกจ้าง จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ดังนั้น ในการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย นายจ้างจะต้องจ่ายให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายซึ่งต้องรวมค่าจ้างทุกประเภท รวมทั้งค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณด้วย การที่จำเลยกับสหภาพแรงงาน ซ. ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยมีเงื่อนไขมิให้นำค่าครองชีพไปรวมกับค่าจ้างเพื่อคิดคำนวณค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ที่คำนวณจากค่าจ้างและเงินเดือน จึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโฆฆะ
โจทก์ที่ 10 ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวหน้าส่วนที่ขาดเป็นเงิน 69 บาท แต่ตามเอกสารในสำนวนปรากฏว่าโจทก์ที่ 10 มีสิทธิได้รับเงินส่วนนี้เช่นเดียวกับโจทก์อื่น ๆ คนละ 350 บาท ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมจึงให้จำเลยจ่ายเงินส่วนนี้แก่โจทก์ที่ 10 จำนวน 350 บาท ด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
จำเลยจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบห้า แต่จำเลยจ่ายไม่ครบถ้วนจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสิบเป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะและมิใช่หนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง โจทก์ทั้งห้าสิบห้าจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดและรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าสิบห้าทวงถามเมื่อใด จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

ผู้พิพากษา

นิยุต สุภัทรพาหิรผล
ดิเรก อิงคนินันท์
วิรุฬห์ แสงเทียน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android