คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5204/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 7 มิ.ย. 2554 14:09:31

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีลักษณะเป็นคำสั่งทางราชการแต่เนื่องจากเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามมาตรา 7 (3) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ ซึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ มาตรา 9 วรรคสอง (3) บัญญัติให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง จึงไม่นำเอา พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ มาใช้บังคับและไม่อาจนำมาใช้ในลักษณะของบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งด้วย เพราะจะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ดังนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ หรือในกฎหมายอื่นใดบัญญัติให้โจทก์ต้องใช้สิทธิทางศาลหรือฟ้องคดีภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องได้
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำนาม 2 คำ นำมาวางต่อกันอย่างไม่เป็นไปตามไวยากรณ์ในภาษาอังกฤษ สำหรับคำว่า "MONSTER" แปลว่า อสุรกาย สัตว์ประหลาด มหึมา มโหฬาร ส่วนคำว่า "POWER" แปลว่า อำนาจ กำลัง พลัง เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงอาจแปลว่า พลังอสุรกาย และไม่ได้มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ขอจดทะเบียน แต่ถึงจะแปลความหมายว่า กำลังมหาศาล ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของเครื่องควบคุมพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง เพราะคำว่า "POWER" แม้จะมีความเกี่ยวข้องกับไฟฟ้า เนื่องจากไฟฟ้าถือเป็นพลังงานรูปหนึ่งแต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนที่ได้เห็นหรือได้ยินเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วจะนึกถึงสินค้าของโจทก์หรือทราบถึงคุณสมบัติของสินค้าของโจทก์ได้ในทันที เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 7

ผู้พิพากษา

พรเพชร วิชิตชลชัย
พลรัตน์ ประทุมทาน
อร่าม เสนามนตรี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android