คำพิพากษาย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 มิใช่ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ประกอบการขนส่ง การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเรื่องความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ มาตรา 56 ขึ้นวินิจฉัย และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะผู้ประกอบการขนส่งจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142
ค่าขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม นั้น เมื่อปรากฏว่าผู้ตายมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสามตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะดังกล่าว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าในขณะนั้นผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสามหรือไม่ เมื่อพิจารณาถึงอายุของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งขณะเกิดเหตุมีอายุประมาณ 58 ปี และ 34 ปี ตามลำดับแล้ว เห็นว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีโอกาสได้รับการอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 15 ปี ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 300,000 บาท และโจทก์ที่ 3 จำนวน 100,000 บาท ถือว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนโจทก์ที่ 1 ขณะเกิดเหตุละเมิดมีอายุประมาณ 78 ปี นับว่ามีอายุมากแล้วเมื่อเทียบกับอายุขัยของคนทั่วไป ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้เป็นเงินถึง 300,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนค่อนข้างสูง จึงเห็นสมควรลดลงบางส่วนโดยกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท
ฝ่ายโจทก์อ้างว่าในการจัดงานศพและพิธีหลังฝังศพเป็นไปตามประเพณีของศาสนาอิสลาม โดยมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขั้นตอนทางพิธีกรรมและภาพถ่ายมาสนับสนุน เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายพบว่ามีคนมาร่วมงานค่อนข้างมาก ซึ่งย่อมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายพอสมควร ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นให้เป็นจำนวน 100,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว
โจทก์ที่ 3 ซื้อรถยนต์ตู้คันที่ผู้ตายขับมาในราคา 410,000 บาท และได้ใช้งานก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 ถึง 3 ปี การที่ขายรถยนต์ตู้คันที่ผู้ตายขับได้เพียง 325,000 บาท จึงน่าจะมีสาเหตุมาจากความเสื่อมเพราะการใช้รถด้วย มิใช่เพราะจากการถูกเฉี่ยวชนเพียงอย่างเดียว จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เป็นเงิน 40,000 บาท