คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4598/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 26 พ.ค. 2554 10:32:19

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ใช้ "เสือ" เป็นเครื่องหมายการค้าซึ่ง "เสือ" เป็นสัตว์ตามธรรมชาติที่มีอยู่และพบเห็นทั่วไป ดังนั้น บุคคลต่างๆ ย่อมสามารถใช้ "เสือ" เป็นเครื่องหมายการค้าได้เช่นกัน โจทก์ไม่อาจหวงกันห้ามบุคคลอื่นที่จะใช้ "เสือ" เป็นเครื่องหมายการค้า เว้นแต่ว่าเป็นการนำ "เสือ" ในลักษณะเดียวกันหรือคล้ายกันกับของโจทก์ไปใช้จนอาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิด เมื่อส่วนของรูป "เสือ" โจทก์ใช้ภาพวาดรูป "เสือ" เสมือนจริงในลักษณะกระโจนไปทางซ้าย ในขณะที่จำเลยใช้ภาพวาดรูป "เสือ" ในลักษณะที่เป็นการ์ตูนคล้ายคนยืน ขาหน้าซ้ายไขว้หลังส่วนขาหน้าขวาจับสิ่งของลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า จึงเห็นได้ว่า แม้จะมีแนวคิดในการใช้ "เสือ" เป็นเครื่องหมายการค้าเหมือนกัน แต่รูปลักษณะของ "เสือ" ตามที่ปรากฏต่อสายตาของสาธารณชนแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ไม่ทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดไปได้ ทั้งการพิจารณาว่าผู้บริโภคเกิดความสับสนหลงผิดหรือไม่นั้น ก็จะต้องพิจารณาถึงความสับสนหลงผิดในความทรงจำเกี่ยวกับ "รูปเครื่องหมายการค้า" เป็นสำคัญด้วย หาใช่ว่ารูป "เสือ" ในลักษณะที่แตกต่างกันเช่นใด ก็ถือว่าก่อให้เกิดความสับสนหลงผิดได้
สำหรับอักษรโรมันคำว่า "TIGER" นั้น เป็นคำสามัญทั่วไปที่มีความหมายในพจนานุกรม บุคคลต่างๆ สามารถนำไปใช้ได้ตราบเท่าที่ไม่ได้ใช้ในลักษณะที่เป็นการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ได้ใช้อักษรโรมันคำว่า "TIGERPLAST" โดยลำพัง แต่ใช้ควบคู่กับรูป "เสือ" ดังกล่าวจึงไม่ทำให้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีอักษรโรมันคำว่า "TIGER" แต่อย่างใด
ในส่วนของเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยนั้นแม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจมีเสียงเรียกขานว่า "ตรา-เสือ" หรือ "ไท-เกอร์" แต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยก็อาจเรียกว่า "ไท-เกอร์-ปลาส" ได้ เพราะไม่ใช่เสียงเรียกขานที่ยากลำบากนัก อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเรียกขานว่า "เสือ" หรือ "ไท-เกอร์" เหมือนกัน แต่เนื่องจาก "เสือ" เป็นสัตว์ตามธรรมชาติ โจทก์จะอ้างเพียงเรื่องเสียงเรียกขานคล้ายกันเพื่อห้ามบุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าไม่ได้ เมื่อพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้าเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกต่อไป
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61

ผู้พิพากษา

รัตน กองแก้ว
พลรัตน์ ประทุมทาน
ไมตรี ศรีอรุณ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android