คำพิพากษาย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ให้สัญญาว่า เมื่อ อ. หรือพี่น้องในตระกูลนำเงิน 127,000 บาท ไปคืนแก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะโอนที่ดินพิพาทและบ้านคืนให้ทันที จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทคืน แต่ตกลงกันในราคาเท่าที่จำเลยที่ 1 มีภาระผูกพันอยู่กับจำเลยที่ 2 และโจทก์วางเงินมัดจำให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ 127,000 บาท ส่วนที่เหลือโจทก์จะไปตกลงกับจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ไม่ไปดำเนินการกับจำเลยที่ 2 เอง ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 รับว่าจะขายที่ดินคืนให้แก่โจทก์แต่ตกลงไว้ในราคาอื่น และจำเลยที่ 1 รับมัดจำไว้แล้ว การตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงเข้าลักษณะสัญญาจะซื้อจะขาย และโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทพร้อมบ้านให้แก่โจทก์จึงเป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นประเด็นหลัก ส่วนเรื่องที่โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 1 เป็นประเด็นรองและการที่จำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทและบ้านให้แก่โจทก์จึงใช่เรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) บัญญัติว่า ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้ ซึ่งมาตรา 142 เป็นบทบัญญัติในภาค 1 บททั่วไปสำหรับทุกชั้นศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีอำนาจยกปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยตรง