คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2552

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 23 ก.พ. 2554 14:49:21

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตาม ป.พ.พ.มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า ผู้ร้องและจำเลยสมคบกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นโดยเจตนาไม่สุจริต เพื่อให้ทรัพย์สินพ้นจากการบังคับดคีและทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงต้องมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว เมื่อจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ผู้ร้องตามมูลหนี้สัญญาจะซื้อจะขายและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิของผู้ร้องตามคำพิพากษาที่จะเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ตนย่อมเกิดขึ้นทันทีแม้ผู้ร้องจะต้องชำระเงินที่เหลือจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลยตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยก็ตาม การที่ผู้ร้องยังไม่ชำระเงินที่เหลือจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยมีผลเพียงทำให้ผู้ร้องยังไม่อาจจะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตอบแทนเท่านั้นหามีผลทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาหมดไปไม่ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิของตนเหนือที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองหามีสิทธิขอให้บังคับยึดที่ดินพิพาททั้งสองเพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้อันเป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 287 ได้ไม่
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6

ผู้พิพากษา

ชาลี ทัพภวิมล
ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์
คำนวน เทียมสอาด

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android