คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10823/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 15 ธ.ค. 2553 09:27:33

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ป.อ. ไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า ผู้มีวิชาชีพ ไว้จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายของคำว่าวิชาชีพ หมายถึงอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึงวิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์ และคำว่า วิชา พจนานุกรมทั้งสองฉบับให้ความหมายว่า ความรู้ ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน ดังนั้น คำว่า ผู้มีวิชาชีพจึงหมายถึงผู้มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญหรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรงหรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของมาตรานี้จึงหาได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ได้เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิก วิศวกร หรือโฟร์แมน (หัวหน้าคนงาน) ดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่ เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 มีกรรมการเพียงคนเดียวคือจำเลยที่ 3 ในการรับเหมาก่อสร้างบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาตั้งแต่ก่อนการทำสัญญารับเหมาก่อสร้างและรับผิดชอบการก่อสร้างในฐานะเป็นเจ้าของกิจการบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้กระทำการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้าง เพื่อให้การก่อสร้างเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้จบการศึกษาทางด้านการก่อสร้างอาคาร ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 มีความรู้ความชำนาญและใช้ความรู้ด้านการก่อสร้างในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227

ผู้พิพากษา

ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว
พีรพล พิชยวัฒน์
พิสิฐ ฐิติภัค

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android