คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 28 ม.ค. 2558 14:24:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามด้วยตนเอง แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามอาการและประวัติการรักษาของโจทก์จากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้แก่โจทก์เพื่อทำการรักษาก็ตาม ก็หาใช่วิสัยของบุคคลผู้มีอาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำไม่ ทั้งห้องเวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร ตามพฤติการณ์ก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเองแต่อย่างใด ถือว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ เมื่อพยาบาลฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการ ทำให้โจทก์เกิดอาการแพ้ยา อันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษา แม้เป็นการแสดงออกให้จำเลยที่ 3 กระทำต่อร่างกายของโจทก์ก็ตาม แต่หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่
ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์นั้น ถือได้ว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 โดยไม่คำนึงว่าโจทก์ประกอบอาชีพหรือไม่ แพทย์ซึ่งเป็นพยานจำเลยก็เบิกความว่า อาการแพ้ยาของโจทก์อาจถึงขั้นเสียชีวิต กระจกตาดำข้างซ้ายของโจทก์เป็นแผลเปื่อยอักเสบบางลงอาจเป็นสาเหตุให้กระจกตาทะลุ ทำให้มองเห็นไม่ชัด ต้องเปลี่ยนกระจกตาดำจึงจะกลับมามองเห็นได้ ประกอบกับขณะเกิดเหตุโจทก์ตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน ต้องใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือน ย่อมเป็นความทุกข์ทรมานที่โจทก์รู้สึกได้ตลอดเวลาที่อยู่ระหว่างการรักษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินคือ ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย 400,000 บาท ค่าเสียหายสมรรถภาพในการมองเห็น 800,000 บาท และค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์ 800,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 2,000,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446
  • พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5

ผู้พิพากษา

วีระวัฒน์ ปวราจารย์
มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด
เฉลิมชัย ตันตยานนท์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android