คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10823/2551

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 8 ม.ค. 2553 15:05:36

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ตาม ป.อ. ไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า ผู้มีวิชาชีพ ไว้จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึง อาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึง วิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์ และคำว่า วิชา พจนานุกรมทั้งสองฉบับให้ความหมายว่า ความรู้ ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน ดังนั้น คำว่า ผู้มีวิชาชีพ จึงหมายถึง ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญหรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรงหรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227 จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ได้เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิก วิศวกร หรือโฟร์แมน (หัวหน้าคนงาน) บริษัทจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการเพียงคนเดียว ในการรับเหมาก่อสร้างบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาตั้งแต่ก่อนทำสัญญารับเหมาก่อสร้างและรับผิดชอบการก่อสร้างในฐานะเป็นเจ้าของกิจการบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้ทำการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้างเพื่อให้การก่อสร้างเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ดังนี้แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้จบการศึกษาทางด้านการก่อสร้างอาคารก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 มีความรู้ความชำนาญและใช้ความรู้ด้านการก่อสร้างในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227

ผู้พิพากษา

ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว
พีรพล พิชยวัฒน์
พิสิฐ ฐิติภัค

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android