คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2551

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 25 พ.ค. 2553 12:47:52

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์เป็นผู้เช่าโรงอาหารที่เกิดเหตุประกอบการจำหน่ายอาหารภายในสถาบันราชภัฎ น. ระหว่างที่อยู่ในเวลาเช่าดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะอธิการบดีสถาบันราชภัฎ น. ได้บอกเลิกสัญญาเช่าต่อโจทก์เนื่องจากโจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่า แต่โจทก์ไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินออกจากโรงอาหารโดยอ้างว่าไม่ได้ผิดสัญญา และต่อมาจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดีขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกจากโรงอาหาร จำเลยที่ 2 สั่งการต่อให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 กับพวกไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 กับพวกได้ร่วมกันเข้าไปในโรงอาหารที่เกิดเหตุและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกจากโรงอาหารไปเก็บไว้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โรงอาหารที่เกิดเหตุเป็นส่วนหนึ่งของอาคารสถาบันราชภัฏ น. ไม่ปรากฏจากข้อสัญญาชัดแจ้งว่ามีการส่งมอบโรงอาหารที่เช่าให้โจทก์ครอบครองอย่างเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ทีเดียว เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์เห็นได้ว่าโจทก์และสถาบันมีเจตนาทำสัญญาเช่าโดยมีวัตถุประสงค์เพียงแต่ให้โจทก์ได้เข้าใช้ประโยชน์โรงอาหารของสถาบันในการจำหน่ายอาหารในพื้นที่ที่ได้จัดไว้ในเวลาเปิดบริการตามระเบียบของสถาบันเท่านั้น หาได้มอบการครอบครองโรงอาหารให้เป็นสิทธิขาดแก่โจทก์ดังเช่นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามธรรมดาไม่ การมอบลูกกุญแจโรงอาหารให้โจทก์ก็เพื่อให้ความสะดวกในการเข้าไปใช้พื้นที่โรงอาหารในการประกอบการของโจทก์เท่านั้น โดยสถาบันอนุญาตโจทก์รวมทั้งผู้เช่าช่วงพื้นที่จำหน่ายอาหารจากโจทก์สามารถเข้าไปใช้โรงอาหารที่เช่าเพื่อประกอบการจำหน่ายอาหารโดยใช้ลูกกุญแจที่มอบไว้แก่โจทก์ เมื่อโรงอาหารที่เกิดเหตุยังในความครอบครองของสถาบันราชภัฎ น. การสั่งการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในการให้เข้าไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ในโรงอาหารที่เกิดเหตุ จึงไม่เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุก
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84

ผู้พิพากษา

ธนัท วิรบุตร์
ไพโรจน์ วายุภาพ
พิชัย อภิชาตอำมฤต

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android