คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5453/2531

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ตามข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยจะไม่ได้กำหนดตัวผู้มีอำนาจลงโทษตักเตือนลูกจ้างไว้ แต่การออกใบเตือนโจทก์ทั้งสองฉบับก็มีผู้จัดการทั่วไปกับหัวหน้าแผนกอาหารและเครื่องดื่มผู้บังคับบัญชาโดยตรงของโจทก์เป็นผู้ลงชื่อ แล้วเสนอใบเตือนให้กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยลงชื่อรับทราบเป็นทางปฎิบัติเช่นนี้ตลอดมา เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ขึ้นผู้จัดการแผนกบุคคลได้เสนอผู้จัดการทั่วไปให้ปลดโจทก์ออกจากงานผู้จัดการทั่วไปได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน แล้วสำเนาคำสั่งแจ้งกรรมการผู้จัดการ กรรมการบริหาร กับหัวหน้าแผนกอาหารและเครื่องดื่มทราบทั้งได้ปิดประกาศแจ้งให้พนักงานทั่วไปทราบด้วยพฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่ากรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยมอบอำนาจโดยปริยายให้ผู้จัดการทั่วไปมีอำนาจออกใบเตือนให้โจทก์ทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว เมื่อโจทก์กระทำผิดซ้ำในเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่เคยถูกเตือนนั้นอีก โดยละทิ้งหน้าที่กลับก่อนเวลาเลิกงาน จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นการกระทำผิดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ใบเตือนเป็นหนังสือของจำเลยผู้เป็นนายจ้างแจ้งให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทราบว่า โจทก์ได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับและว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้โจทก์กระทำผิดอีก ต้นฉบับใบเตือนจึงอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยย่อมไม่สามารถนำต้นฉบับมาแสดงต่อศาลได้ ทั้งเมื่อจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อน ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาลเพื่อใช้ยันโจทก์ โจทก์ก็ไม่คัดค้านว่าต้นฉบับเอกสารไม่มีหรือเอกสารปลอม หรือสำเนาไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 125 ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจรับฟังสำเนาพยานเอกสารแทนต้นฉบับได้ ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่กำหนดว่าเมื่อลูกจ้างกระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจะถูกพิจารณาลงโทษตักเตือนเป็นหนังสือ ตัดค่าจ้าง ลดค่าจ้างพักงาน หรือเลิกจ้างตามควรแก่กรณี ไม่ใช่กำหนดขั้นตอนการลงโทษจำเลยจะลงโทษลูกจ้างสถานใดย่อมเป็นดุลพินิจของจำเลยตามที่สมควร ตามความร้ายแรงแห่งการกระทำผิดของลูกจ้างโดยจำต้องลงโทษลูกจ้างเรียงตามลำดับโทษที่กำหนดไว้ การที่จำเลยลงโทษเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยหลายครั้ง จึงไม่ใช่ลงโทษข้ามขั้นตอน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ค่าชดเชย มาตรา 10

ผู้พิพากษา

สุพจน์ นาถะพินธุ
มาโนช เพียรสนอง
วิศิษฏ์ ลิมานนท์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android