คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906/2535

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยและสามีได้ขออนุญาตปลูกบ้านพิพาทจากโจทก์และเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม แต่โจทก์นำสืบว่า สามีจำเลยได้ขออนุญาต ร. ปลูกบ้านเมื่อประมาณ 30 ปี ก่อนโจทก์เบิกความคดีนี้ ต่อมา ร. ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่บ้านพิพาทปลูกอยู่ให้แก่โจทก์และผู้อื่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการนำสืบแตกต่างไปจากฟ้อง เพราะเมื่อ ร.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์และบุคคลอื่นแล้ว การที่จำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทก็เท่ากับโจทก์และเจ้าของร่วมในที่ดินได้อนุญาตให้จำเลยปลูกบ้านอยู่ต่อไปนั่นเอง กฎหมายสันนิษฐานว่าผู้มีชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดเมื่อจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์และผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนบุคคลอื่นจำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่ในทางนำสืบนั้น จำเลยคงมีแต่ตัวจำเลย พ.บุตรสาวของจำเลยและส. มาเบิกความลอย ๆ ว่าร. ถือกรรมสิทธิ์แทนบุคคลอื่น โดยปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนจึงมีน้ำหนักน้อย ไม่สามารถหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยหรือสามีจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในที่พิพาท การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอาศัยอยู่ต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่พิพาทแล้วแต่จำเลยไม่ออกไปจึงเป็นการละเมิดและต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ผู้พิพากษา

ตัน เวทไว
ชาติศักดิ์ ธรรมศักดิ์
ชวลิต พรายภู่

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android